โครงการพัฒนาเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อการผลิตระดับชุมชน (RID)

โครงการพัฒนาประดิษฐกรรมเพื่อชนบท (ชื่อเดิม)

เครื่องประสานและเคลือบผิวใบไม้เพื่อผลิตอุปกรณ์ตกแต่งเครื่องใช้ในครัวเรือน(RID64)

ศ, 09/04/2021 - 09:59 — bunsita
รายละเอียด: 

       วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย A&R (ART AND REGION) เริ่มดำเนินการ ปี พ.ศ. 2560 เกิดจากวิถีชีวิตของอำเภอเชียงของ ที่มีความเป็นอัตลักษณ์ ทางด้านการทอผ้าในการตัดเย็บด้วยมือ (Hand Made) ที่มีความโดดเด่นเน้นความเป็นท้องถิ่น มีลวดลายที่สวยงามและมีชื่อเสียงในการเย็บผ้าทอด้วยมือชุมชน ที่มีการถ่ายทอดสมัยบรรพบุรุษ และถ่ายทอดมาตั้งแต่สมัย ปู่ ย่า ตา ยาย จึงมีการรวมกลุ่มกันเพื่อการพัฒนาและรักษามาตรฐานในรูปแบบที่ต่อยอดและเน้นความทันสมัย แต่คงไว้ซึ่งความเป็นล้านนา จึงมีการรวมกลุ่มกัน ภายใต้ A & R ผ้าทอ ซึ่งเป็นการร่วมเจตจำนงค์ในการรักษาและอนุรักษ์สมบัติอันล้ำค่าของล้านนาของอำเภอเชียงของ จึงมีการแบ่งหน้าที่ในการบริหารจัดการ ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล และสามารถผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยชุมชน แบ่งหน้าที่เป็น 5 กลุ่ม มี 1.กลุ่มทอผ้า 2.กลุ่มตัดเย็บ 3.กลุ่มปักษ์ผ้า 4.กลุ่มย้อมผ้า และ 5.กลุ่มออกแบบ กลุ่มฯ ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างสม่ำเสมอ โดยในปีที่ผ่านมากลุ่มฯ ได้มีแนวคิดที่จะนำเศษวัสดุทางการเกษตรจากพืชเศรษฐกิจที่ปลูกอยู่ของกลุ่ม นำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่า จึงได้มีการทดลองนำใบไม้ เช่น ใบสับปะรด และใบโกโก้ มาทดลองประสานและเคลือบผิว และนำไปต่อยอดผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น กระเป๋า ที่รองแก้ว เหยือก ของที่ระลึก ของฝาก เป็นต้น ซึ่งผลปรากฏว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการตอบรับค่อนข้างดี โดยเฉพาะลูกค้าเจ้าของโรงแรม และนักท่องเที่ยวต่างประเทศ มียอดการสั่งซื้อจำนวนมาก เพราะผลิตภัณฑ์ทุกชนิดผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติ สอดคล้องกับในปัจจุบันกระแสการอนุรักษ์รักษาธรรมชาติกำลังได้รับความนิยม และตอบรับจากลูกค้าค้าค่อนข้างดี แต่เนื่องจากกระบวนการผลิตแผ่นใบไม้เคลือบผิวทำได้ช้าและคุณภาพไม่ค่อยสม่ำเสมอ จึงทำให้กลุ่มฯ เสียโอกาสในการผลิตจำหน่าย และไม่สามารถรับออเดอร์จำนวนมากได้ กลุ่มฯ จึงมีแนวคิดที่จะปรึกษาและขอรับการสนับสนุนเครื่องประสานและเคลือบผิวใบไม้ด้วยความร้อน เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตของกลุ่มฯ แก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิตเพื่อให้คุณภาพสม่ำเสมอ และสามารถผลิตได้จำนวนมากเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าต่อไป 

งบปี พ.ศ.: 
2564
ภาพประกอบ: 
เครื่องประสานและเคลือบผิวใบไม้เพื่อผลิตอุปกรณ์ตกแต่งเครื่องใช้ในครัวเรือน(RID64)
    แคตตาล็อกเทคโนโลยี
    ระดับ: 
    ต้นแบบเชิงพาณิชย์ / อุตสาหกรรม
    กลุ่มเป้าหมาย: 
    วิสาหกิจชุมชน
    ภาพหน้าปก: 

    เครื่องกำจัดกลิ่นและทำความสะอาดขวดน้ำดื่มด้วยสเปรย์โอโซนฟองนาโนเข้มข้น(RID64)

    พฤ, 08/04/2021 - 16:01 — bunsita
    รายละเอียด: 

              สหกรณ์การเกษตรเมืองเชียงราย ทำธุรกิจโรงงานผลิตน้ำดื่ม เพื่อให้สมาชิกได้บริโภคน้ำดื่มที่สะอาด  โดยน้ำที่สหกรณ์จำหน่ายเน้นน้ำดื่มแบบชนิดคืนขวดเป็นพลาสติกแข็ง เนื่องจากต้นไม่สูงเหมือนขวด PET แต่เนื่องจากมีลูกค้าบางราย นำวัตถุอื่น เช่น ทิชชูเปียก หรือกระดาษทิชชูใส่ลงไปในขวด หรือบางรายนำวัตถุอื่น เช่น น้ำมัน เหล้าขาว สุรา ยาสมุนไพร หรือบางรายนำไปใช้เขี่ยบุหรี่ ทำให้ขวดน้ำดื่มที่รับมาสกปรก และล้างไม่ออก ทำให้มีกลิ่นติด และบางขวดต้องทิ้งทำให้เป็นต้นทุนเพิ่ม ส่งผลต่อภาพพจน์แบรนด์สินค้า หรือทำให้น้ำดื่มสกปรก ในกระบวนการปกติสหกรณ์ให้พนักงานตรวจสอบด้วยสายตา และตรวจสอบกลิ่นโดยการให้พนักงานดมกลิ่น แต่ปัญหาที่พบคือ แม้ว่าพนักงานจะตรวจสอบอย่างละเอียด แต่ก็ยังมีปัญหาไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด เนื่องจากขวดมีจำนวนมาก ทำให้พนักงานเกิดความล้า และอาจเป็นอันตรายต่อโพลงจมูกของพนักงานที่ดมกลิ่น ที่สำคัญยังเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตจากการต้องทิ้งขวดที่มีกลิ่นจำนวนมากแต่ละปี จากปัญหาดังกล่าว ทางสหกรณ์ได้พยายามหาวิธี หรือหาเครื่องจักรเพื่อนำเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้น สหกรณ์ฯ จึงต้องการเครื่องจักรสำหรับกำจัดกลิ่นที่ติดขวดน้ำดื่ม เพื่อช่วยลดต้นทุน ยกระดับมาตรฐานการผลิต เพิ่มศักยภาพของสหกรณ์ในการดำเนินงานต่อไป

     

     

    งบปี พ.ศ.: 
    2564
    ภาพประกอบ: 
    เครื่องกำจัดกลิ่นและทำความสะอาดขวดน้ำดื่มด้วยสเปรย์โอโซนฟองนาโนเข้มข้น(RID64)
      แคตตาล็อกเทคโนโลยี
      ระดับ: 
      ต้นแบบเชิงพาณิชย์ / อุตสาหกรรม
      กลุ่มเป้าหมาย: 
      อื่นๆ
      ภาพหน้าปก: 

      เครื่องคั้นและบรรจุน้ำบูดูกึ่งอัตโนมัติ(RID64)

      พฤ, 08/04/2021 - 15:49 — bunsita
      รายละเอียด: 

                     ผลิตภัณฑ์น้ำบูดู ถือได้ว่าเป็นอาหารพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมในภาคใต้ ซึ่งน้ำบูดูได้มาจากการหมักปลาทะเลกับเกลือ เช่นเดียวกับการหมักน้ำปลาโดยอาศัยเอนไซม์และจุลินทรีย์จากปลาที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยใช้เวลาในการหมัก 8-15 เดือน การผลิตบูดูและการรับประทานบูดูก็กลายเป็นวิถีวัฒนธรรมของคนภาคใต้ น้ำบูดูถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมด้านอาหารของคนภาคใต้ ได้รับความนิยมในการรับประทานเป็นอย่างแพร่หลาย ซึ่งน้ำบูดูเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถหาซื้อได้ง่าย มีรสชาติดีและคุณค่าทางโภชนาการสูง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มน้ำบูดูบ้านบือราเป๊ะ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ได้ประกอบกิจการผลิตน้ำบูดูโดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการหมักจนถึงการบรรจุและจำหน่าย

      ในปัจจุบันทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มน้ำบูดูบ้านบือราเป๊ะ ได้ใช้เครื่องมือการคั้นกากน้ำบูดูและการบรรจุน้ำบูดูในบรรจุภัณฑ์ด้วยเครื่องมือพื้นฐาน เช่น เครื่องบีบคั้นกากน้ำบูดูแบบมือหมุนอัด การบรรจุน้ำบูดูในขวดและในถุงพลาสติกด้วยกรวยบรรจุแบบพลาสติก ในการบวนการคั้นและบรรจุน้ำบูดูเพื่อให้หลักสุขอนามัยและให้ถูกต้องตามหลักสาธารณสุขนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครื่องบีบคั้นน้ำบูดูและเครื่องบรรจุน้ำบูดูเป็นระบบปิด ทั้งนี้เพื่อเป็นกระบวนการเข้าสู่การรับรองเครื่องหมายอาหารและยา ตลอดจนเครื่องหมายฮาลาล

      ในขั้นตอนการบีบคั้นและการกรองน้ำบูดูแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นแบบเปิดนั้นมีโอกาสทำให้สิ่งปนเปื้อนสามารถปนและผสมกับน้ำบูดูได้ และกระบวนการบรรจุใส่ขวดและการบรรจุใส่ถุงพลาสติกแบบเปิดก็สามารถทำให้สิ่งปนเปื้อนเข่าได้เช่นกัน สำหรับสมาชิกผู้ปฏิบัติงานในขั้นตอนดังกล่าว หากทำงานเป็นเวลานานก็ก่อให้เกิดความความเหนื่อยล้าได้ เนื่องจากขั้นตอนและกิจกรรมการดำเนินงานยังไม่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ ซึ่งทางกลุ่มพัฒนาต้นแบบเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อการผลิตระดับชุมชน มีความเห็นว่าต้องมีการพัฒนาการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบเครื่องจักรแทนที่แรงคน ทั้งนี้เพื่อความสะอาดถูกหลักสุขอนามัยและความรวดเร็วในการบวนการผลิต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครื่องคั้นและบรรจุน้ำบูดูกึ่งอัตโนมัติเข้ามาสนับสนุนกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากว่าในบางกิจกรรมสมาชิกไม่สามารถใช้กำลังกายเป็นระยะเวลานานได้ ดังนั้นกลุ่มน้ำบูดูบ้านบือราเป๊ะ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำเครื่องจักรมาแทนที่แรงงานคน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตและคุณภาพ หรือลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออก ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกของกลุ่มสามารถไปดำเนินกิจกรรมอื่นได้

      อีกทั้งเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ด้านการออกแบบและด้านการผลิตสำหรับกลุ่มพัฒนาต้นแบบเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อการผลิตระดับชุมชน ดังได้กล่าวมานั้น ผู้เสนอโครงการจึงมีแนวคิดในการแก้ปัญหาและเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตให้กับกลุ่มดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นคงให้ผู้ผลิตและสร้างคุณภาพชีวิตให้ผู้บริโภค ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศในภาพรวม

       

       

      งบปี พ.ศ.: 
      2564
      ภาพประกอบ: 
      เครื่องคั้นและบรรจุน้ำบูดูกึ่งอัตโนมัติ(RID64)
        แคตตาล็อกเทคโนโลยี
        ระดับ: 
        ต้นแบบเชิงพาณิชย์ / อุตสาหกรรม
        กลุ่มเป้าหมาย: 
        วิสาหกิจชุมชน
        ภาพหน้าปก: 

        เครื่องฉีกหมูฝอยแบบกึ่งอัตโนมัติ(RID64)

        พฤ, 08/04/2021 - 15:36 — bunsita
        รายละเอียด: 

        วิสาหกิจชุมชนครัวข้าวแกง มหาสารคาม ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 121 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด  อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม  จดทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ภายใต้เลขทะเบียน 4-44-01-01/1-0015 ภายใต้การนำของ คุณรุ่งนภา ทองเชื้อ ดำเนินการเป็นกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่าย ขนมไทย สาคูไส้หมู น้ำส้มคั้น หมูสวรรค์เผ็ด และหมูฝอย โดยจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และวางขายหน้าร้านของทางกลุ่ม ซึ่งเป็นร้านขายข้าวราดแกงขึ้นชื่อของจังหวัดมหาสารคาม โดยกลุ่มลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่ร้านนิยมซื้อผลิตภัณฑ์หมูฝอยของทางกลุ่มกลับไปรับประทานเองที่บ้าน หรือซื้อเพื่อเป็นของฝากเป็นจำนวนมาก ด้วยรสชาติที่อร่อย และการบอกต่อกันของกลุ่มลูกค้า ส่งผลให้ยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์หมูฝอยของทางกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

        อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลิตภัณฑ์หมูฝอยของทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนครัวข้าวแกง มหาสารคาม จะได้รับการตอบรับที่ดีมากจากกลุ่มลูกค้า แต่ทางกลุ่มวิสาหกิจก็ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าต่อวันได้ทั้งหมด จึงส่งผลให้สูญเสียโอกาสทางการค้า และการขยายตลาดการจำหน่าย เนื่องจากกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์หมูฝอยของทางกลุ่มวิสาหกิจในปัจจุบัน ใช้แรงงานคนในทุกขั้นตอนของการผลิต และขั้นตอนที่ใช้เวลานานที่สุดคือ ขั้นตอนของการฉีกเนื้อหมูที่ผ่านการต้มแล้วให้กลายเป็นเส้น ก่อนการนำไปทอด โดยในปัจจุบันกำลังการผลิตของทางกลุ่มที่ผลิตได้อยู่ที่ประมาณ 2.5 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการของลูกค้า ซึ่งทางกลุ่มได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการซื้อเครื่องจักรสำเร็จรูปจากท้องตลาดมาใช้ในกระบวนการฉีก แต่ลักษณะของเส้นหมูที่เครื่องจักรฉีกได้ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มวิสาหกิจ และกลุ่มผู้บริโภค จึงได้ขายเครื่องจักรที่ซื้อมาออกไป และกลับมาใช้แรงงานคนในการฉีกเช่นเดิม

        จากปัญหาดังกล่าว ทางคณะผู้ดำเนินโครงการได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้นของทางกลุ่มวิสากิจชุมชนครัวข้าวแกง มหาสารคาม และได้พูดคุยเพื่อหาแนวทางการช่วยแก้ไขปัญหากำลังการผลิตไม่เพียงพอ โดยการออกแบบแนวคิดเพื่อสร้างเครื่องจักรต้นแบบ  “เครื่องฉีกหมูฝอยแบบกึ่งอัตโนมัติ” ที่มีกำลังการผลิต และตรงกับลักษณะของผลิตภัณฑ์ ที่ทางกลุ่มวิสาหกิจต้องการ และได้ให้ข้อมูลความจำเพาะมา เข้ามาช่วยในขั้นตอนของการฉีกเนื้อหมูที่ผ่านการต้มแล้วให้เป็นเส้น โดยเครื่องจักรที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นจะให้ลักษณะของเส้นหมูที่ผ่านการฉีกแล้วตรงตามความต้องการของกลุ่ม และมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 กิโลกรัมต่อชั่วโมง

        งบปี พ.ศ.: 
        2564
        ภาพประกอบ: 
        เครื่องฉีกหมูฝอยแบบกึ่งอัตโนมัติ(RID64)
          แคตตาล็อกเทคโนโลยี
          ระดับ: 
          ต้นแบบเชิงพาณิชย์ / อุตสาหกรรม
          กลุ่มเป้าหมาย: 
          วิสาหกิจชุมชน
          ภาพหน้าปก: 

          เครื่องล้างขมิ้นชันเพื่อการแปรรูปสำหรับชุมชน(RID64)

          พฤ, 08/04/2021 - 14:56 — bunsita
          รายละเอียด: 

          จากการศึกษาความต้องการของวิสาหกิจชุมชนขมิ้นชันปลอดสารพิษ ต.เขาวง อ.บ้านตาขุน พบว่า หลังจากปลูกขมิ้น 10 เดือนถึง 1 ปีแล้ว ชุมชนจะทำการเก็บขมิ้น สังเกตได้จากการที่ต้นขมิ้นล้มลง ถ้าไม่เก็บตอนนั้นขมิ้นก็จะฝ่อสารก็จะลดลง หลังจากเก็บแล้วเราก็ต้องนำมาคัดหัว หัวที่ไม่สมบูรณ์ก็ทิ้งไป นำหัวสมบูรณ์นำมาล้างทำความสะอาดแล้วก็นำมาลวกน้ำร้อน เป็นเวลา 7 นาที ถ้ามากกว่านั้นก็ไม่ได้ จากนั้นก็นำมาตากผึ่งให้แห้งแล้วนำมาซอย หลังจากซอยเสร็จก็นำไปเข้าตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ความร้อนไม่เกิน 50 องศา อบเป็นเวลา 30 นาที ถ้าจะเก็บหลังจากตากก็เก็บไว้ก่อนแต่หากจะใช้เมื่อไรก็นำมาอบ แล้วนำไปบด  การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากขมิ้นชันของชุมชนเขาวงที่ถือเป็น Signature product คือ ขมิ้นชันรับประทาน ขมิ้นชันแคปซูล ขมิ้นชันแบบผง ละลายน้ำ  และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น สบู่เหลวขมิ้นชัน เจลล้างหน้าขมิ้นชัน สบู่เหลวอาบน้ำ สบู่ก้อน แชมพูขมิ้นชัน โลชั่นขมิ้นชัน ครีมบำรุงผิวหน้า ผงขัดหน้าทำจากสมุนไพรบด ยาหม่องขมิ้นไพล สเปย์แก้ปวด สกัดจากไพล ขมิ้น กานพลู และสมุนไพรคลายเส้นอื่นๆ และผงขมิ้นชัน

          ซึ่งในขั้นตอนการล้างทำความสะอาดขมิ้นชัน ยังต้องใช้แรงงานคนช่วยกันล้าง ด้วยการเอาขมิ้นใส่กะละมัง หรือภาชนะ และทำการล้าง จะต้องล้างแต่ละครั้งประมาณ 5 น้ำ ใช้เวลานาน โดยอัตราการล้าง 20 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งต้องล้างวันละประมาณ 50 กิโลกรัม ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง อีกทั้งยังทำให้ผู้ล้างรู้สึกเมื่อยล้าที่ต้องยืน หรือนั่งล้างเป็นเวลานานๆ อีกด้วย โดยขมิ้นชันสด 10 กิโลกรัม สามารถทำขมิ้นชันแห้ง 1 กิโลกรัม และบางช่วงเวลาลูกค้ามีความต้องการขมิ้นชันแห้งจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถผลิตขมิ้นชันแห้งได้ทันตามที่ลูกค้าต้องการ ทำให้ทางวิสาหกิจชุมชนต้องสุญเสียโอกาสและรายได้ที่จะตามมาอีกด้วย

          ผู้วิจัยจึงมีแนวคิดพัฒนาเครื่องล้างขมิ้นชันเพื่อให้สามารถล้างขมิ้นชันได้สะอาด รวดเร็ว สามารถรองรับการผลิตในจำนวนมาก ซึ่งตัวเครื่องจะออกแบบให้ทำงานง่ายเหมาะสมสำหรับสมาชิกในกลุ่มฯซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงและผู้สูงอายุที่มาช่วยงาน ซึ่งจะให้การทำงาน 2 ขั้นตอน คือขั้นตอนแรกเป็นขั้นตอนการล้างทำความสะอาดขมิ้น และขั้นตอนที่สองเป็นขั้นตอนการเอียงถังเพื่อเทเอาขมิ้นและน้ำออกจากถังตามความต้องการของสมาชิกในกลุ่มฯ

          งบปี พ.ศ.: 
          2564
          ภาพประกอบ: 
          เครื่องล้างขมิ้นชันเพื่อการแปรรูปสำหรับชุมชน(RID64)
            แคตตาล็อกเทคโนโลยี
            ระดับ: 
            ต้นแบบเชิงพาณิชย์ / อุตสาหกรรม
            กลุ่มเป้าหมาย: 
            วิสาหกิจชุมชน
            ภาพหน้าปก: 

            เครื่องผลิตซอสพริกระบบตัวกลางส่งผ่านความร้อน(RID64)

            พฤ, 08/04/2021 - 14:24 — bunsita
            รายละเอียด: 

            พริกเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นรายได้หลักของเกษตรกรในพื้นที่ อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1,500 ไร่ มีเกษตรกรที่เพาะปลูกพริกจำนวน 485 ราย มีผลผลิตเฉลี่ย 3,800 กิโลกรัม/ไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 23,000 บาท/ไร่ ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกพริกจะประสบปัญหาโรคและแมลง และปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เนื่องจากมีปริมาณพริกในฤดูกาลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมาก พ่อค้าคนกลาง เป็นผู้กำหนดราคาซื้อ ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องขายในราคาที่ต่ำกว่าทุน จึงจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพของกลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกพริก ให้มีความสามารถในการผลิตและความสามารถในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น เพื่อทางกลุ่มสมาชิกสามารถเก็บไว้ขายในช่วงฤดูกาลที่มีพริกสดออกสู่ตลาดปริมาณน้อย ความต้องการบริโภคพริกในประเทศยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีปริมาณพริกในตลาดลดลง ราคาพริกก็จะสูงขึ้น เกษตรกรจึงได้รวมกลุ่มกัน ภายใต้การส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ และจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนองม่วงไข่ เพื่อร่วมกันพัฒนากลุ่มองค์กรเกษตรกรผู้ปลูกพริกและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การแปรรูปพริก เพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

            แต่ในปัจจุบันทางกลุ่มสามารถผลิตพริกแปรรูปได้แก่ พริกดอง น้ำจิ้มไก่ น้ำพริกตาแดง ซอสพริก  เป็นต้น แต่ในกระบวนการผลิตใช้หลักภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีกำลังผลิตที่ไม่มาก ซึ่งเหล่ากระบวนการผลิตถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เช่น การต้ม ลวก นึ่ง ตากแห้ง การรมควันไฟ เป็นต้น ซึ่งปัจุจับันทางกลุ่มมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรในกระบวนการผลิต เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก แก้ไขปัญหาด้านกำลังผลิต และปัญหาการขาดแรงงาน หากทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี และการสนับสนุนด้านเครื่องจักร อุปกรณ์ก็จะสามารถทำให้กลุ่มสมาชิกมีรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว และพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกกลุ่มเกษตรในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้

            งบปี พ.ศ.: 
            2564
            ภาพประกอบ: 
            เครื่องผลิตซอสพริกระบบตัวกลางส่งผ่านความร้อน(RID64)
            เครื่องผลิตซอสพริกระบบตัวกลางส่งผ่านความร้อน(RID64)
              แคตตาล็อกเทคโนโลยี
              ระดับ: 
              ต้นแบบเชิงพาณิชย์ / อุตสาหกรรม
              กลุ่มเป้าหมาย: 
              วิสาหกิจชุมชน
              ภาพหน้าปก: 

              เครื่องทำปลาส้มชนิดแผ่นกลมกึ่งอัตโนมัติ(RID64)

              พฤ, 08/04/2021 - 13:38 — bunsita
              รายละเอียด: 

              วิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาบ้านห้วยบง จดจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2549  รหัสทะเบียน 4-39-03-06/1-0007 มีจำนวนสมาชิก 20 คน ทำการแปรรูปปลาส้ม และปลาส้มชนิดแผ่นกลม โดยมีกำลังการผลิตปลาส้ม 100 กิโลกรัมต่อวัน ราคาขาย 120 บาท ต่อกิโลกรัม รายได้ขายปลาส้ม  360,000บาทต่อเดือน และปลาส้มชนิดแผ่นกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ขนาด 60 มม. ความหนา 10 มม. จำนวน 300 กิโลกรัมต่อวัน ราคาขาย 120 บาทต่อกิโลกรัม รายได้ขายปลาส้มชนิดแผ่นกลม 1,080,000 บาทต่อเดือน ส้มไข่ปลา จำนวน 60 กิโลกรัมต่อวัน ราคาขาย 120 บาทต่อกิโลกรัม รายได้ขายส้มไข่ปลา 216,000 บาทต่อเดือน ส้มขี้ปลา จำนวน 60 กิโลกรัมต่อวัน ราคาขาย 40 บาทต่อกิโลกรัม รายได้ขายส้มขี้ปลา 72,000 บาทต่อเดือน   ยอดจำน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาบ้านห้วยบง 1,728,000 บาทต่อเดือน จากการลงพื้นที่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาบ้านห้วยบง มีความต้องการในการเพิ่มกำลังการผลิตปลาส้มชนิดแผ่นกลม และ พัฒนากระบวนการผลิตปลาส้มชนิดแผ่นกลมให้มีมาตรฐานให้มากขึ้น ปัญหาในกระบวนการผลิตปลาส้มชนิดแผ่นกลม ในกระบวนการปั้นปลาส้มชนิดแผ่นกลมด้วยมือ กำลังการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า อีกทั้งกระบวนการผลิตยังใช้มือในการทำแผ่นกลมทำใช้กระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงมีการทางกลุ่มมีความต้องการเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอ ดังนั้นทีมนักวิจัยจึงมีแนวคิดในการออกแบบและพัฒนาเครื่องทำปลาส้มชนิดแผ่นกลมกึ่งอัตโนมัติ โดยเครื่องจักรที่ได้ออกแบบและพัฒนาช่วยในกระบวนการผลิตสามารถทำปลาส้มชนิดแผ่นกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ขนาด 60 มม. ความหนา 10 มม. ได้จากเดิม 300 กิโลกรัมต่อวัน เป็น 600 กิโลกรัมต่อวัน สามารถเพิ่มกำลังกระบวนการผลิตปลาส้มชนิดแผ่นกลมให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ลดจำนวนพนักงานในกระบวนการปั้นปลาส้มแผ่นด้วยมือจาก 3 คน เหลือ 1 คน ปรับเปลี่ยนจากการปั้นแผ่นกลมด้วยมือมาเป็นเครื่องจักรทำให้กระบวนการมีมาตรฐานมากขึ้น เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ ในภาคการผลิตระดับชุมชนให้มีสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานหรือผู้ประกอบการในระดับชุมชน

               

              งบปี พ.ศ.: 
              2564
              ภาพประกอบ: 
              เครื่องทำปลาส้มชนิดแผ่นกลมกึ่งอัตโนมัติ(RID64)
                แคตตาล็อกเทคโนโลยี
                ระดับ: 
                ต้นแบบเชิงพาณิชย์ / อุตสาหกรรม
                กลุ่มเป้าหมาย: 
                วิสาหกิจชุมชน
                ภาพหน้าปก: 

                เครื่องคัดพุทราแบบแฟลบ(RID64)

                พฤ, 08/04/2021 - 13:21 — bunsita
                รายละเอียด: 

                 เครื่องคัดพุทราแบบแฟลบที่ได้นั้นสามารถเพิ่มกำลังการผลิตในการคัดผลผลิตลูกพุทราสดให้ได้หลายขนาดของลูกพุทราเพื่อให้สถานประกอบการได้วัตถุดิบที่ได้มาตรฐานและสร้างรายได้มากกว่าการขายผลผลิตในราคาคละผลผลิต ซึ่งจะเกิดช่องว่างและพ่อค้าคนกลางกดราคาเกษตรกร ซึ่งเครื่องที่ทางผู้ช่วยชาญตั้งใจพัฒนาขึ้นมา เพื่อให้เกษตรกรสามารถคัดลูกพุทราสดได้มากกว่า 6 ขนาดและลดแรงกระแทกขณะคัดวัตถุดิบ ดังนั้นวัตถุดิบที่ได้จะไม่ซ้ำ ไม่เกิดความเสียหายในขั้นตอนการคัดแยก ทำให้สินค้าสามารถเก็บรักษาได้นานยิ่งขึ้น และมีหลักการ การทำงานของเครื่องที่ง่ายเหมาะสำหรับ วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรไม้ผลบ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เพื่อสามารถพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพและผลิตสินค้าได้ทันตามเวลาของลูกค้า ซึ่งเครื่องจักรต้นแบบที่พัฒนาสามรถตอบโจทย์ทางกลุ่มฯ สามารถใช้งานได้ง่ายเครื่องจักรไม่ซับซ้อน มีคู่มือการใช้งานที่ทุกท่านปฏิบัติงานได้โดยไม่มีอุปสรรค

                งบปี พ.ศ.: 
                2564
                ภาพประกอบ: 
                เครื่องคัดพุทราแบบแฟลบ(RID64)
                  แคตตาล็อกเทคโนโลยี
                  ระดับ: 
                  ต้นแบบเชิงพาณิชย์ / อุตสาหกรรม
                  กลุ่มเป้าหมาย: 
                  วิสาหกิจชุมชน
                  ภาพหน้าปก: 

                  ตู้อบและรมควันปลาเม็งระบบอัตโนมัติ(RID64)

                  พฤ, 08/04/2021 - 11:39 — bunsita
                  รายละเอียด: 

                  “ปลาเม็ง” ภาคกลางเรียกว่า ปลาจีด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Heteropneustes fossilis (Bloch) เป็นปลาน้ำจืดที่ชนิดไม่มีเกล็ด ลำตัวมีสีดำ คล้ายกับปลาดุก แต่จะแตกต่างกันตรงที่ความยาวของฐานครีบหลังปลาเม็งเป็นปลาที่มี อวัยวะพิเศษสำหรับช่วยในการหายใจ จึงสามารถอาศัยในแหล่งน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ ขนาดที่พบโดยทั่วไปจะมีความยาว ประมาณ 20 เซนติเมตร และมีรายงานว่าเคยพบขนาดความยาวสูงสุดถึง 30 เซนติเมตร เป็นปลาที่ค่อนข้างหายากและมีแนวโน้มที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์  มีการแพร่กระจายและถิ่นที่อยู่อาศัยตามแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ทั่วไป ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย และอินโดจีน ในปัจจุบันเฉพาะภาคใต้พบมากที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปลาเม็งจัดเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งและถือเป็นปลาประจำท้องถิ่นของจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะในอำเภอบ้านนาเดิม บ้านนาสาร พระแสงและเคียนซา นิยมเลี้ยงกันมากในพื้นที่ริมแม่น้ำตาปีและร่องปาล์มน้ำมัน ปลาเม็งนับวันจะหายากหรือมีปริมาณลดน้อยถอยลง เพราะปลาที่เลี้ยงนั้น ส่วนมากจะได้ลูกพันธุ์ปลาเม็งจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่แหล่งน้ำธรรมชาติอันเป็นที่ อยู่อาศัยของสัตว์น้ำต่างๆ ก็เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ปลาเม็งในแหล่งน้ำธรรมชาติได้ถูกจับด้วยวิธีทำการประมงต่าง ๆ เพื่อสนองต่อความต้องการ ของตลาด ร้านอาหารและโรงแรมต่างๆ เป็นผลทำให้ปลาเม็งในแหล่งน้ำธรรมชาติลดจำนวนอย่างรวดเร็ว

                  เพราะปลาเม็งเป็นปลาที่มีรสชาติดี มีลักษณะเฉพาะที่มีเนื้อเหนียวเป็นเส้น ไม่เปื่อยยุ่ย และมีรสชาติหอมหวาน ทำให้ปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดนักกินเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะยำปลาเม็ง และต้มโคล้งปลาเม็ง อาหารขึ้นชื่อของ จ.สุราษฎร์ธานี โดยราคาปลาเม็งสดมีราคา กิโลกรัมละ 400-600  บาท และหากแปรรูปเป็นปลาเม็งตากแห้ง ปลารมควันจะทำให้ มีราคาประมาณ 2,400-3,500 บาทต่อกิโลกรัม โดยเมื่อนำมาทำอาหารเช่น ยำปลาเม็งตามภาพที่ 2 ซึ่งใช้เนื้อปลาเม็งเพียง 1 ขีดขายในราคา 400 บาท  โดยกระบวนการแปรรูปปลาเม็งสดเป็นปลาเม็งตากแห้ง ปลารมควันดั้งเดิม มีกระบวนการโดยการนำมาปลาเม็งสด มาใส่เกลือเพื่อให้ปลาตาย หลังจากนั้นนำมาเสียบไม้นำไปตากแดด และนำไปรมควันบนตระแกรงเหล็กโดยใช้เชื้อเพลิงจากเปลือกกะลามะพร้าวหรือไม้ยางพารา

                   

                  งบปี พ.ศ.: 
                  2564
                  ภาพประกอบ: 
                  ตู้อบและรมควันปลาเม็งระบบอัตโนมัติ(RID64)
                    แคตตาล็อกเทคโนโลยี
                    ระดับ: 
                    ต้นแบบเชิงพาณิชย์ / อุตสาหกรรม
                    กลุ่มเป้าหมาย: 
                    วิสาหกิจชุมชน
                    ภาพหน้าปก: 

                    เครื่องเหลาไม้ไผ่สำหรับทำสุ่มโคมไฟ(RID64)

                    พฤ, 08/04/2021 - 11:09 — bunsita
                    รายละเอียด: 

                    หลังจากสิ้นสุดโครงการจะได้เครื่องเหลาไม้ไผ่ ที่ผลิตเส้นไม้ไผ่ที่มีขนาดสม่ำเสมอ เส้นไม้ไผ่ไม่แข็ง ดัดโค้งได้ง่าย เหมาะสำหรับผลิตสุ่มโคมไฟ ช่วยของเสียในกระบวนการผลิต เนื่องจากไม้ไผ่ที่สม่ำเสมอไม่เท่ากันทำให้เกิดของเสียเยอะ ช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ ให้กับกลุ่มโอทอป ทำให้เด็ก คนชรา และกลุ่มชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยปกติกลุ่มโอทอปผลิตสุ่มไก่ จะมีรายได้ประมาณ 20,000 บาท/เดือน แต่เมื่อหันมาทำสุ่มโคมไฟส่งให้กับบริษัทที่มีคำสั่งซื้อเข้ามา จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 30,000 - 40,000 บาท/เดือน

                    เมื่อมีเครื่องเหลาไม่ไผ่ที่ได้ประสิทธิภาพ จะทำให้กลุ่มโอทอป สามารถผลิตสินค้าจำหน่ายได้แพร่หลายมากขึ้น นอกจากนี้การสร้างเครื่องจักนสามารถทดแทน และลดการนำเข้าเครื่องจักร โดยการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตได้ในประเทศในการพัฒนาสร้างเครื่องจักร โดยเทคโนโลยีที่ใช้ของเครื่องจักรเป็นเทคโนโลยีที่ไม่สูงมาก เหมาะสำหรับชาวบ้าน ผลงานผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องตกแต่ง เครื่องจักรสานแบบอื่น ๆ ได้หลากหลาย ทั้งที่ออกแบบเอง และผลิตตามแบบที่ลูกค้าต้องการ เครื่องจักรที่ออกแบบมาสามารถนำไปใช้กับชุมชนอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย หรือจะเป็นต้นแบบเพื่อให้กลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรที่สนใจผลิตจำหน่ายในราคาที่ไม่สูงต่อไป

                     

                     

                     

                    งบปี พ.ศ.: 
                    2564
                    ภาพประกอบ: 
                    เครื่องเหลาไม้ไผ่สำหรับทำสุ่มโคมไฟ(RID64)
                      แคตตาล็อกเทคโนโลยี
                      ระดับ: 
                      ต้นแบบเชิงพาณิชย์ / อุตสาหกรรม
                      กลุ่มเป้าหมาย: 
                      วิสาหกิจชุมชน
                      ภาพหน้าปก: 
                      เนื้อหาแหล่งข่าว