โครงการพัฒนาต้นแบบเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อการผลิตระดับชุมชน (RID)
โครงการการพัฒนาต้นแบบเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อการผลิตระดับชุมชน
(Rural Invention Development)
(ชื่อเดิม "ประดิษฐกรรมเพื่อการพัฒนาชนบท")
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
หลักการและเหตุผล
เทคโนโลยีมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยหรือดีกว่าย่อมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้านการผลิตให้กับประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจในการให้การสนับสนุนการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายให้มีการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม ไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิต ระดับเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้ดำเนินการให้การอุดหนุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการเกษตร หัตถกรรม ในระดับวิสาหกิจชุมชน และบุคคล โดยเน้นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ นักพัฒนา และผู้ใช้หรือผู้ประกอบการ เพื่อสนับสนุนให้เกิดประดิษฐกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในระดับปฏิบัติงานและผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต
ปัจจุบันการสร้างเครื่องจักรและประดิษฐกรรมที่เกี่ยวข้องในด้านการเกษตร หัตถกรรม ยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ หรือมีแต่ยังไม่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมการดำรงชีวิตของชาวชนบท เนื่องจากประดิษฐกรรมส่วนใหญ่มีต้นแบบมาจากต่างประเทศ หรือจากเฉพาะแหล่ง ยังไม่มีความเป็นสากล ประกอบกับ มีราคาแพง การดูแลและซ่อมบำรุงทำได้ยาก นอกจากนั้นบางเครื่องไม่สามารถนำมาปรับใช้ในแต่ละท้องถิ่นได้ เนื่องมาจากความแตกต่างของสภาพพื้นที่ ขั้นตอนการปฏิบัติงาน สภาพของวัสดุหรือผลผลิต ที่แตกต่างกัน เป็นต้น จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาสร้างเครื่องจักร เครื่องมือให้เหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาในการใช้งาน หรือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและผลผลิตให้ดีขึ้น ซึ่งผลงานการพัฒนาที่จะสามารถนำไปขยายผลได้ ต้องเกิดจากความต้องการของผู้ใช้งานหรือผู้ประกอบการอย่างแท้จริง ดังนั้นกิจกรรมการพัฒนาประดิษฐกรรมเพื่อชนบท จึงมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีให้ตรงตามโจทย์ เพื่อใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการผลักดันผลงานให้สามารถนำไปสู่เชิงพาณิชย์ ต่อไป
วัตถุประสงค์
เพื่อให้การอุดหนุนทุนวิจัยพัฒนาและสร้างเครื่องจักร เครื่องมือ ด้านการเกษตร แปรรูปอาหาร หัตถกรรม ในระดับวิสาหกิจชุมชน ที่มีความแปลกใหม่กว่าในท้องตลาด พร้อมทั้งผลักดันให้ผู้ใช้งาน ผู้ประกอบการ นำผลงานไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการผลิต
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้ผลงานการพัฒนาซึ่งเป็นประดิษฐกรรมหรือเทคโนโลยี ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตและเศรษฐกิจชุมชน ด้านการเกษตร หัตถกรรม ในระดับวิสาหกิจชุมชนและบุคคล
2. ได้ผลงานการพัฒนาซึ่งเป็นประดิษฐกรรมหรือเทคโนโลยี ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงและผลักดันไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในอนาคตได้
3. เสริม สนับสนุน ให้เกิดการพัฒนาและสร้างเครื่องจักรภายในประเทศ ในการพัฒนาชุมชนที่พึ่งตนเองได้เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
4. ประดิษฐกรรมที่พัฒนาและใช้งานได้จะนำไปจัดแสดงในงานวันเทคโนโลยีของไทย งานแสดงผลงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอื่นๆ เพื่อผลักดันผลงานไปสู่เชิงพาณิชย์ตามข้อ 2 ต่อไป
ขอบข่ายของโครงการ
1. โครงการที่เสนอจะต้องสอดรับกับความต้องการของผู้ประกอบการ หรือกลุ่มผู้ใช้งาน เพื่อแก้ปัญหาในด้านการเกษตรกรรม หัตถกรรม ระดับวิสาหกิจชุมชน หรือบุคคล
2. โครงการจะต้องมีการออกแบบคำนวณความเหมาะสมในการใช้งานเครื่องมือ หรือเครื่องจักร หรือชิ้นส่วนที่สร้างขึ้น หรือที่นำมาประกอบ และต้องมีแบบแปลนของส่วนที่จะทำการพัฒนา พร้อมทดสอบการใช้งาน และเผยแพร่ผลงานแก่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ หรือกลุ่มผู้ใช้
3. ผู้ประกอบการหรือกลุ่มผู้ใช้ ต้องแสดงความต้องการที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งมีส่วนร่วมอย่างใดอย่างหนึ่งในโครงการ เช่น ด้านการเงิน วัสดุดำเนินโครงการ การนำผลงานการพัฒนาไปใช้ประโยชน์
คุณสมบัติของผู้รับการอุดหนุน
- เป็นผู้ที่สังกัดอยู่ในสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษา อุดมศึกษา ที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินโครงการ ที่รับการอุดหนุนการพัฒนาเทคโนโลยีจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
- เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในโครงการที่เสนอและสามารถปฏิบัติงาน รวมถึงควบคุมการดำเนินโครงการที่ขอรับการอุดหนุน ได้ตลอดระยะเวลาที่รับการสนับสนุน
- ไม่เป็นผู้ที่ติดค้างการส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ สำหรับโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาแล้ว
- ไม่เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างการรับการอุดหนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เว้นแต่เป็นการขอรับการอุดหนุนต่อเนื่องในโครงการเดียวกัน
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอสงวนสิทธิ์ ที่จะไม่รับข้อเสนอโครงการใดๆ เมื่อเลยกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ สำหรับการส่งข้อเสนอโครงการทางไปรษณีย์ จะถือวันประทับตราไปรษณีย์ เป็นสำคัญ
เงื่อนไขการสนับสนุนงบประมาณ
วงเงินสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 80 % ของงบประมาณโครงการทั้งหมด และสูงสุดไม่เกิน 4 แสนบาทต่อโครงการ และวิสาหกิจชุมชนต้องร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 20 % ในรูปแบบ inkind หรือ incash ก็ได้
วงเงินสนับสนุน
รัฐสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 80 % ของงบประมาณโครงการทั้งหมด และสูงสุดไม่เกิน 400,000 บาทต่อโครงการ
หลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการ
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก ดังนี้
- ผู้เสนอโครงการต้องมีคุณสมบัติของผู้รับการอุดหนุนตามที่กำหนด
- โครงการ มีเป้าหมายเพื่อประดิษฐ์ พัฒนา เครื่องจักรกล เครื่องทุ่นแรง ด้านการเกษตร แปรูปอาหาร หัตถกรรม ในระดับวิสาหกิจชุมชน
- เครื่องต้นแบบที่พัฒนาขึ้นในโครงการนี้ต้องเป็นเครื่องจักรที่ยังไม่มีคนไทยทำขายในตลาด
- มีวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรร่วมสนับสนุนงบประมาณ หรือ สนับสนุนด้านวัตถุดิบทดสอบ
- เครื่องต้นแบบเป็นประโยชน์ในเชิงสาธารณะ
- เครื่องจักรที่พัฒนาสร้างขึ้นจะต้องใช้งานได้อย่างเหมาะสมในระดับวิสาหกิจชุมชน คุ้มค่า ใช้งานง่าย สะดวก ประหยัด
- โครงการมีเหมาะสมกับงบประมาณที่เสนอ
- ผู้เสนอโครงการจะต้องชี้แจงทุกหัวข้อที่กำหนดตามแบบที่กำหนดในท้ายข้อกำหนดนี้
เงื่อนไขอื่น ๆ และข้อสงวนสิทธิ
- สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอสงวนสิทธิที่จะไม่รับโครงการใดๆ เมื่อล่วงเลย วัน เวลา ที่กำหนดในประกาศนี้
- สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอสงวนสิทธิที่จะให้มีการแก้ไขรายละเอียดของโครงการในกรณีที่จำเป็น
- ผล การพิจารณาตัดสินจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ยื่นข้อเสนอโครงการพัฒนาประดิษฐกรรมเพื่อชนบทเพื่อขอรับการอุดหนุน จะอุทธรณ์มิได้
สิทธิและหน้าที่ของผู้รับการอุดหนุน
- จะ ต้องเป็นผู้ตรวจสอบดูแลผู้ร่วมงาน ให้ปฏิบัติงานโดยใช้ความชำนาญ ความระมัดระวังและความวิริยะอุตสาหะ ในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จสมความมุ่งหมายของผู้ให้การอุดหนุน รายชื่อหัวหน้าโครงการและผู้ร่วมงานที่ปรากฏในรายละเอียดโครงการแนบท้าย สัญญานี้ต้องเป็นผู้รับผิดชอบโครงการจนแล้วเสร็จ กรณีมีการเปลี่ยนแปลงผู้ร่วมโครงการ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ให้การอุดหนุนเป็น ลายลักษณ์อักษร
- กรรมสิทธิ์ ในเอกสารทุกฉบับซึ่งเกิดจากงานการพัฒนาเทคโนโลยี ตามโครงการนี้ให้ตกเป็นของผู้ให้การอุดหนุน ซึ่งผู้รับการอุดหนุนจะต้องส่งมอบบรรดาเอกสารดังกล่าวให้แก่ผู้ให้การอุด หนุนทันที ตามเงื่อนไขในสัญญา ผู้รับการอุดหนุนอาจเก็บสำเนาเอกสารไว้ได้ แต่ต้องไม่นำข้อความในเอกสารนั้นไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้การ อุดหนุนก่อน
- ผลจากงานพัฒนาเทคโนโลยี ที่เกิดจากการอุดหนุนของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้รับการอุดหนุนจะนำผลงานไม่ว่าบางส่วนหรือสมบูรณ์ทั้งหมดไปลงพิมพ์เผยแพร่ ในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ใดๆ หรือนำเครื่องประดิษฐกรรมที่ได้ไปแสดง ประกวด นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือกระทำการอื่นใดทำนองเดียวกัน ต้องแจ้งให้สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทราบ ด้วยทุกครั้ง
- การ จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญากำหนดตามสัดส่วนงบประมาณที่ร่วมลงทุน โดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยกสิทธิ์ให้ผู้รับการอุดหนุน และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอสงวนสิทธิ์ในการนำผลงานไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
เมื่อการพัฒนาเทคโนโลยีตามโครงการนี้เสร็จสิ้นลง ประดิษฐกรรมใหม่ที่ได้ให้อยู่ในการครอบครองของผู้รับการอุดหนุน หรือผู้ประกอบการ ผู้ใช้งาน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการ ที่ได้แสดงความร่วมมือในด้านการเงิน และวัสดุไว้ไม่น้อยกว่า 20 % ของเงินทั้งหมดที่ได้รับการอุดหนุน หรือเว้นแต่ผู้ให้การอุดหนุนจะตกลงเป็นอย่างอื่น โดยผู้ครอบครองประดิษฐกรรมใหม่ต้องยินดีให้ความร่วมมือกับผู้ให้การอุดหนุน ในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ตามความเหมาะสม
กำหนดการยื่นโครงการ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ “กองส่งเสริมแะประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม" สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กทม. 10400” โทรศัพท์หมายเลข 0 2333 3924 โทรสารหมายเลข 0 2333 3932 : ข่าวสารประชาสัมพันธ์หรือ E-mail : machine@mhesi.go.th