โครงการพัฒนาระบบอัตโนมัติ/สมาร์ทเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ของภาคการผลิตและบริการ (AUS)

โครงการพัฒนาระบบอัตโนมัติ/สมาร์ทเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ของภาคการผลิตและบริการ
(Automation System and Smart Technology)

หลักการและเหตุผล

         คลัสเตอร์ “อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม” เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งถือว่าเป็น กลไกสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ที่ช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างของอุตสาหกรรมในด้านการผลิตและการบริการของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างงานคุณภาพ เพื่อเปลี่ยนให้เป็น “ประเทศไทย 4.0” หรือ ประเทศที่มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมภาคการผลิตและการบริการของไทยต่างเห็นประโยชน์และความสำคัญในการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics & Automation) มาใช้งานด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น การผลิต การตรวจสอบคุณภาพการจัดเก็บ การขนส่ง และการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วน รวมถึงการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และคนพิการ เป็นต้น

          โครงการพัฒนาระบบอัตโนมัติ/สมาร์ทเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคการผลิตและบริการ เป็นโครงการภายใต้กิจกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี เครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคการผลิตและบริการ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับสถาบันไทย-เยอรมัน ซึ่งเป็นหน่วยรับบริหารจัดการโครงการ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการภาคเอกชนภายในประเทศหรือนักวิจัยในสถาบันศึกษา/หน่วยงานหรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ให้สามารถคิดค้นออกแบบและพัฒนาระบบอัตโนมัติ/สมาร์ทเทคโนโลยีต้นแบบ สู่เชิงพาณิชย์ที่มีราคา คุณภาพ และประสิทธิภาพการทำงานเทียบเท่าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อช่วยยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของภาคการผลิตและบริการให้ดีขึ้น รวมถึงยังเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งผู้สูงวัย ผู้ป่วย และผู้ทุพพลภาพ เป็นต้น

ลักษณะการดำเนินงาน

           ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการภาคเอกชนไทยที่ต้องการออกแบบและพัฒนาสร้างเป็นระบบอัตโนมัติต้นแบบหรือสมาร์ทเทคโนโลยี ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและนักพัฒนา โดยอาศัยหลักการวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering) ที่เป็นเทคโนโลยีต้นแบบจากต่างประเทศ หรือใช้การคิดค้น ออกแบบและพัฒนาใหม่เพื่อใช้งานของภาคเอกชนไทย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในอุตสาหกรรมภาคการผลิตและการบริการ มีความเหมาะสมและมีศักยภาพต่อการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป ช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติจากต่างประเทศ รวมถึงเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคเอกชนตามนโยบายรัฐบาล “ไทยแลนด์ 4.0”

คุณสมบัติของสถานประกอบการผู้พัฒนาที่ร่วมโครงการ
1. จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจากัด และห้างหุ้นสามัญ เป็นต้น มีคนไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 และทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท 
2. มีนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ หรือที่ปรึกษา จากสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี
สำหรับการออกแบบและพัฒนาสร้างเทคโนโลยีต้นแบบเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ/สมาร์ทเทคโนโลยี ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ
อยู่ในคณะทำงานของโครงการ จำนวนไม่น้อยกว่า 1 คน
3. มีประสบการณ์การออกแบบและพัฒนาและสร้าง ต้นแบบเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ/สมาร์ทเทคโนโลยี หรืออื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 2 ปี
4. ไม่เคยได้รับงบประมาณการสนับสนุนเพื่อการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมจากหน่วยงานอื่นๆ ในโครงการเดียวกัน
5. มีความรับผิดชอบ สามารถทุ่มเทเวลาในการดำเนินงานให้เป็นไปตามข้อเสนอโครงการ และเสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนด และสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของสถาบันไทย-เยอรมัน และเงื่อนไขของหน่วยงานเจ้าของงบประมาณได้
6. มีศักยภาพและสามารถร่วมสนับสนุนทุนในการดำเนินงานได้ตามที่โครงการกำหนด ในอัตราร้อยละ 50 ของงบประมาณทั้งโครงการ
7. ไม่เป็นหน่วยงานหรือบุคคลที่ล้มละลาย หรืออยูระหว่างการพิจารณาล้มละลาย
8. หน่วยงานหรือบุคคลที่ยื่นข้อเสนอต้องไม่อยู่ในบัญชีผู้ที่ถูกยกเลิกสัญญาจ้าง หรือบัญชีอื่นๆที่ไม่ประสงค์จ้างงานของสถาบันไทย-เยอรมัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการฯ

ลักษณะเครื่องจักร อุปกรณ์เทคโนโลยีที่เสนอขอรับการสนับสนุน
1. เป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นใหม่ยังไม่มีผู้ใดพัฒนามาก่อน หรือเกิดจากการพัฒนาต่อยอดจากงานวิจัย หรือเกิดจากกระบวนการวิศวกรรมย้อนรอยเพื่อสามารถที่จะนำมาใช้งานได้จริง ไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น
2. เครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ/สมาร์ทเทคโนโลยี ที่เสนอต้องมีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งานของคนไทยและสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถของภาคการผลิตและบริการได้อย่างแท้จริง
3. เครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ/สมาร์ทเทคโนโลยี ที่เสนอต้องมีประสิทธิภาพและสมรรถนะการทำงานเทียบเท่าหรือดีกว่าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และมีโอกาสที่จะขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้ในวงกว้าง
4. มีรายละเอียดสมรรถนะของเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ/สมาร์ทเทคโนโลยีที่จะพัฒนาชัดเจนและสามารถทดสอบได้ตามมาตรฐานสากลหรือหลักวิศวกรรม
5. มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และมีโอกาสขยายผลสู่เชิงพาณิชย์
6. เป็นโครงการที่ไม่อยู่ในระหว่างดำเนินงานจากแหล่งทุนหรือยื่นเสนอขอรับทุนของหน่วยงานอื่นในลักษณะที่ซ้ำซ้อน หากสถาบันฯ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการฯ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. เพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาองค์ความรู้สำหรับการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ และสมาร์ทเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการไทย
2. ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ/สมาร์ทเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และการซ่อมบำรุงระบบอัตโนมัติ/สมาร์ทเทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างประเทศ
3. ลดต้นทุนการผลิตสินค้าจากการใช้ระบบอัตโนมัติที่ผลิตได้ภายในประเทศที่มีสมรรถนะและคุณภาพเทียบเท่ากับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
4. เพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิตจากการใช้ระบบอัตโนมัติที่ผลิตได้ภายในประเทศที่มีสมรรถนะและคุณภาพเทียบเท่ากับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
5. พัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้นโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและผู้ทุพพลภาพ

วงเงินสนับสนุน
รัฐสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 50 % ของงบประมาณโครงการทั้งหมด