โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า (VCE)

โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า

(Technology Transfer and Development for Thai Industry Through Value Creation Engineering)

 

หลักการและเหตุผล
          สนับสนุนการพัฒนาสร้างเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตภายในประเทศตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์จากต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่ภาคเอกชนไทย โดยอาศัยกระบวนการวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering) อันเป็นกระบวนการสร้างคุณค่าทางวิศวกรรม หรือที่เรียกว่า วิศวกรรมเพื่อสร้างสรรค์คุณค่า (Value Creation Engineering) ที่เน้นการพัฒนาในด้านการออกแบบใหม่ให้เหมาะสมกับประเทศ  โดยการใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศ เป็นการบูรณาการระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัยของรัฐ และภาคเอกชน ในรูปแบบเกลียว 3 ประสาน หรือที่เรียกว่าโมเดล Triple Helix ตลอดจนการมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายของโครงการระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

คุณสมบัติของผู้ขอรับการสนับสนุน
                1.  สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานในกำกับของรัฐ หน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรอิสระ มูลนิธิ หน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาผลงานวิจัย พัฒนา และวิศกรรม (RD&E) หรือจดทะเบียนเป็นที่ปรึกษากับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
                2.  มี “ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ” ที่มีศักยภาพผลิตเครื่องจักรเชิงพาณิชย์ เพื่อทำหน้าที่ผลิตสร้างเครื่องจักรต้นแบบ และเป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและ/หรือองค์ความรู้ที่เกิดขึ้น
                3.  มีนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันวิจัย เป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในฐานะ “นักวิชาการที่เข้าร่วมโครงการ”

คุณสมบัติของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ
                1.  จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ไม่น้อยกว่า 1 ปี และมีคนไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50 % ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท
                2.  ร่วมลงทุนงบประมาณในโครงการไม่น้อยกว่า 50 % ของงบประมาณโครงการทั้งหมด โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการนำองค์ความรู้/แบบทางวิศวกรรมที่ได้ไปทดลองสร้างเครื่องต้นแบบที่สามารถใช้งานได้ โดยที่เครื่องจักรต้นแบบที่ได้จะเป็นสิทธิของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ
                3.  มีศักยภาพ ความมุ่งมั่น และความพร้อม ที่จะดำเนินโครงการให้เสร็จตามแผนการดำเนินงาน
                4.  มีโอกาสที่จะนำผลผลิตจากโครงการไปใช้ในประโยชน์ทางสังคมหรือขยายผลเชิงพาณิชย์ได้
                5.  ไม่เคยได้รับสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมจากหน่วยงานอื่น ๆ ในโครงการเดียวกัน

ลักษณะเครื่องจักร อุปกรณ์เทคโนโลยีที่เสนอขอรับการสนับสนุน
                1.  เป็นเครื่องจักรกล หรืออุปกรณ์เทคโนโลยี ที่มีการถอดแบบและพัฒนาจากเครื่องจักรต่างประเทศ หรือเป็นการออกแบบเครื่องจักรใหม่ที่ไม่เคยมีผู้คิดค้นขึ้นมาก่อน
                2.  เป็นเครื่องจักรกล หรืออุปกรณ์เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม
                3.  มีรายละเอียดสมรรถนะของเครื่องที่จะพัฒนาอย่างชัดเจนและออกแบบถูกต้องตามหลักวิศวกรรม
                4.  ไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น

วงเงินสนับสนุน
รัฐสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 50 % ของงบประมาณโครงการทั้งหมด  และสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อโครงการ

เงื่อนไขและสิทธิของผู้ร่วมโครงการ
1.  เครื่องจักรต้นแบบที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ ให้อยู่ในความครอบครองของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ
2.  สำนักงานปลัดกระทรวงฯ มีสิทธิ์ในการเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการในลักษณะที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ ภายหลังสิ้นสุดสัญญาให้ทุนไปแล้ว 2 ปี และมีกรรมสิทธิ์ในเอกสารที่เกี่ยวข้อง ทั้งรายงานฉบับต่างๆ ที่ประกอบด้วยแบบทางวิศวกรรม ข้อมูลความรู้เทคนิค วิธีการขั้นตอนในการพัฒนาเทคโนโลยีภายใต้โครงการ
3.  ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ ให้เป็นสิทธิ์ร่วมกันระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงฯ และผู้วิจัยและพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบ ดังนั้นการนำข้อมูลความรู้ เทคนิค วิธีการ ขั้นตอนหรืออื่นใด เพื่อไปดำเนินการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากสำนักงานปลัดกระทรวงฯ