โครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า (VCE)
โครงการพัฒนาสร้างเครื่องระเหยข้นแบบบังคับให้หมุนเวียน(VCE64)
การระเหยของเหลวด้วยการให้ความร้อนสมัยใหม่หันมาใช้ระบบท่อ Shell and tube เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนความร้อน ในของเหลวบางชนิดเมื่อได้รับความร้อนระดับหนึ่งมีการตกผลึก หรือเป็นตะกรัน ทำให้ท่อแลกเปลี่ยนความร้อนเครื่องระเหยข้นแบบแนวนอนอุดตันทำให้ยากต่อการทำงานและซ่อมแซมรักษา ใช้เวลามากในการกลับมาทำงานแต่เครื่องระเหยข้นแบบท่อแนวตั้งใช้หลักการไหลเวียนของของเหลวด้วยความเร็วที่สูงจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำและ ไม่ให้ของเหลวระเหยเดือดระหว่างภายในท่อ ทำให้ลดการเกิดภาวะการตกผลึก หรือ ตะกรัน และอุดตันในท่อ ทำให้ไม่ต้องหยุดการทำงานเพื่อซ่อมแซมรักษาและนำพลังงานความร้อนที่ได้จากการระเหยบังคับกลับมาเข้าสู่ระบบหมุนเวียนใหม่เพื่อช่วยการทำความร้อนให้กับระบบ ซึ่งเป็นการช่วยการประหยัดพลังงานและต้นทุนในการสร้างความร้อนให้น้อยลงโดยใช้การดูดแบบสุญญากาศเข้ามาเป็นตัวดึงความร้อนจากการระเหยกลับเข้ามาสู่ในระบบใหม่อีกครั้ง
โครงการพัฒนาสร้างหนูนา หุ่นยนต์ทำนา(VCE64)
วิกฤตสภาพอากาศ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน การผลิตขาดเทคโนโลยีและเครื่องจักรไม่ทันสมัย ภาคการเกษตร ยังติดกับดักกับปัญหา ต้นทุนการผลิตสูง และผลผลิตต่ำ เครื่องจักรที่ทันสมัยราคาสูง ทั้งยังไม่เหมาะสมกับพื้นที่ หากการเกษตรยังไม่พัฒนาต่อ เราจะสูญเสียการแข่งขันกับตลาดโลก
การใช้เครื่องจักรที่ฉลาด เหมาะสมกับพื้นที่ และเทคโนโลยีข้อมูลมาพยากรณ์การผลิตด้วย AI ช่วย จะทำให้แก้ปัญหาดังกล่าวได้ หนูนา หุ่นยนต์ทำนา เป็นการปฏิวัติกระบวนการทำเกษตร ไปสู่การเกษตรแบบแม่นยำ หรือ Smart farming เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลพร้อมส่งเสริม
โครงการพัฒนาสร้างเครื่องต้นแบบ 3D Bin picking(VCE64)
ปัจจุบัน ระบบ Vision 3D เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรม ในการบอกตำแหน่งของชิ้นงาน (กxยxลึก/มุม) และช่วยตัดสินใจให้ Robot หยิบชิ้นงานเรียงลำดับก่อน-หลัง และการวางตำแหน่งมือหยิบในแต่ละครั้งของการหยิบ ระบบ 3D Bin Picking ส่วนใหญ่ยังเป็นการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ รองรับการทำงานร่วมกับ Robot ยี่ห้อที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น ABB, Mitsubishi ฯลฯ ราคา 3D Bin Picking ค่อนข้างสูง และมีรูปแบบเทคโนโลยีให้เลือกไม่มาก
โครงการพัฒนาสร้างเครื่องปอกและหั่นมะม่วงเบา(VEC64)
ในบ้านเรานั้นมะม่วงจัดเป็นผลไม้เศรษฐกิจซึ่งส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลกโดยสายพันธุ์หนึ่งที่แพร่หลายมากที่สุดในภาคใต้ของไทยและมีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมากตลอดทั้งปีนั่นคือมะม่วงเบาซึ่งได้มีการนำมาแปรรูปเป็นผลไม้แช่อิ่มและมะม่วงดองซึ่งในกรรมวิธีการทำมะม่วงเบาแช่อิ่มนี้มีขั้นตอนของการเตรียมวัตถุดิบคือการปอกเปลือกและหั่นผ่าครึ่งก่อนที่จะนำไปแช่อิ่มโดยในขั้นตอนนี้ตามโรงงานอุตสาหกรรมอาหารต่าง ๆ หรือ ตามชุมชนทั่วไปที่เลือกที่จะทำมะม่วงแช่อิ่มด้วยตนเองจะอาศัยการใช้แรงงานคนในการปอกเปลือกมะม่วงซึ่งเวลาในการปอกและหั่นผ่าครึ่งแต่ละลูกก็ใช้เวลาพอสมควรหากเป็นมะม่วงดิบในช่วงเวลานี้อัตราค่าจ้างแรงงานก็เริ่มสูงขึ้นพร้อมกับในช่วงนี้ที่เศรษฐกิจไม่ดีผู้ประกอบการส่วนมากก็จะไม่ค่อยเลือกที่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับตนเองตลอดจนเครื่องที่สามารถทำตามขั้นตอนดังกล่าวยังไม่มีการผลิตออกมาโดยตรงทั้งจากนอกและในประเทศดังนั้นด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้จึงคิดที่จะประดิษฐ์ต้นแบบอัตโนมัติที่มุ่งเน้นใช้ในครัวเรือนหรือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กโดยมีราคาของเครื่องที่ไม่สูง
โครงการพัฒนาสร้างเครื่องอบแห้งแบบแช่เยือกแข็งมัลติฟังก์ชั่น(VCE64)
ในงานวิจัยมีระดับปฏิบัติการจำเป็นต้องมีอุปกรณ์หลากหลาย เพื่อรองรับงานวิจัยต่างๆ ด้วยงบประมาณที่จำกัด การซื้อเครื่องจักรหลายๆเครื่องอาจจะไม่ใช่ทางเลือก ดังนั้นการที่เครื่องจักรที่รองรับการทำงานได้หลายรูปแบบในเครื่องเดียวช่วยตอบโจทก์ทางด้านงบประมาณได้
เครื่องอบแห้งแบบแช่เยือกแข็งมัลติฟังก์ชั่นสามารถทำงานหลากหลาย ประกอบไปด้วย 1.การทำเยือกแข็ง 2.การอบในชั้นบรรยากาศ 3.การอบระเหิดภายใต้สุญญากาศ 4.การอบระเหยภายใต้สูญญากาศ ทั้ง4กระบวนการนี้เป็นปฏิบัติการขั้นพื้นฐานในห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่ เครื่องอบแห้งแบบแช่เยือกแข็งมัลติฟังก์ชั่นเป็นระบบอบแห้งวัตถุดิบที่โดยการให้ความร้อนด้วยอินฟาเรดฮีตเตอร์ไฟฟ้าและดูดอากาศออกด้วยระบบสุญญากาศโดยมอรเตอร์ปั้มสุญญากาศ ตัวถังเป็นระบบปิด มีท่อและวาล์วทางออกเข้าสู่ท่อแลกเปลี่ยนความร้อนกับน้ำเย็น มีปั๊มสุญญากาศสำหรับสร้างความดันสุญญากาศภายในระบบ ในการใช้งานอบในชั้นบรรยากาศสามารถเปิดฝาและให้ความร้อนด้วยอินฟาเรดฮีตเตอร์ในส่วนของการอบแรงดันปิดฝาให้เป็นระบบปิดเพื่อสร้างแรงดัน ปั๊มสุญญากาศเปิดใช้งานเมื่อต้องการสร้างความดันสุญญากาศขณะที่ระเหยหรือระเหิดทำให้สามารถระเหยหรือระเหยด้วยอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส และการอบแห้ง ไอระเหยจะกลั่นตัวเป็นของเหลวที่ท่อแลกเปลี่ยนความร้อนที่มีความเย็นด้วยน้ำเย็นที่ไหลเวียนผ่านท่อ
โครงการพัฒนาสร้างเครื่องชั่งและบรรจุอัตโนมัติความเร็วสูง(VCE64)
เนื่องด้วยอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องกับระบบการชั่งและบรรจุใส่ถุงบางส่วนต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว และอีกบางส่วนโรงงานที่มีกำลังการผลิตค่อนข้างสูงก็ต้องนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ และเป็นการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างๆ ของต่างประเทศ และยังส่งผลไปถึงเม็ดเงินต่างๆ ที่ไหลออกนอกประเทศ ทั้งค่าวิศวกรรม ค่าวัสดุต่างๆ ที่ต้องเสียให้กับต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนา ในด้านวิศวกรรมของคนไทย และการสร้างเทคโนโลยีของคนไทย เพื่อนำไปใช้แข่งขันกับเครื่องจักร และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และนำระบบเทคโนโลยี ของคนไทยเข้าไปในโรงงานต่างๆ รวมไปถึงการนำไปใช้เพื่อทดแทนแรงงานต่างด้าวที่กำลังจะขาดแคลนในอนาคตอันใกล้ และเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับวิศวกร และนักวิจัยคนไทยด้วยเช่นกัน
โครงการพัฒนาสร้างชุดเครื่องจักรสกัดน้ำมันกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์(VCE64)
ปัจจุบันประเทศไทย เป็นเมืองเกษตรกรรมที่มีผลผลิตทางการเกษตร นอกจากจะมีคุณค่าอาหารที่มีอยู่ในกากใยต่างๆ แล้ว ยังมีคุณค่าและสารอาหารสำคัญที่อยู่ในผลผลิตนั้นๆ เช่น กัญชา ชา กาแฟ สมุนไพร ยาจีน เป็นต้น ซึ่งสามารถแยกออกจากกากใยได้โดยวิธีสกัด โดยปกติแล้วจะทำโดยการใช้น้ำร้อนในหม้อสกัดซึ่งต้องใช้พลังงาน เวลา และน้ำเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังได้สารสกัดในปริมาณน้อย ดังนั้น ในการสกัดสารสำคัญอย่างคุ้มค่านั้นจึงยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้นทุนในการสกัดที่สูงและผลผลิตที่ต่ำ ชุดเครื่องจักรสกัดน้ำมันกัญชาระบบสุญญากาศ มีคุณสมบัติในการสกัดสารสำคัญออกจากวัตถุดิบที่เป็นของแข็งโดยใช้แอลกอฮอล์ที่อุณหภูมิต่ำ ซึ่งจะสามารถสกัดสารสำคัญได้การใช้พลังงานค่อนข้างน้อย ซึ่งจากการที่ลูกค้ามาทดสอบ พบว่าช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น จึงมีความต้องการพัฒนาเครื่องจักรที่สนองความต้องการของลูกค้าในกลุ่มนี้ โดยจะพัฒนาชุดเครื่องจักรสกัดน้ำมันกัญชาระบบสุญญากาศซึ่งจะสามารถลดต้นทุน ลดเวลาและเพิ่มผลผลิตในการผลิตน้ำมันกัญชาโดยการสกัด
โครงการพัฒนาสร้างเครื่องแปรรูปขยะอินทรีย์เป็นสารปรับปรุงดินชีวภาพภายใน 24 ชั่วโมงขนาดรับขยะเข้า 100 กก./วัน(VCE64)
เพื่อส่งเสริมหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบกำจัดขยะด้วยตนเอง หรือที่ต้องการช่วยเหลือสังคม ช่วยภาครัฐกำจัดขยะ ณ แหล่งกำเนิด เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก หอพัก ตลาดสด คอนโดมิเนียม โรงงาน ภัตตาคาร/ศูนย์/ร้านอาหาร โรงแรมขนาดเล็ก ฯ ให้กำจัดขยะอินทรีย์ซึ่งบูดเน่าเหม็นได้ง่ายโดยถูกต้องตามหลักการ จึงคิดประดิษฐ์สร้างนวัตกรรมต้นแบบเครื่องกำจัดแปรรูปขยะอินทรีย์เป็นสารปรับปรุงดินชีวภาพภายใน 24 ชั่วโมง ขนาดรับขยะเข้าได้วันละ 100 กก.
เพื่อให้ใช้กำจัดขยะวันต่อวัน ทันกับขยะที่เกิด โดยเครื่องฯ ไม่เกิดมลภาวะสร้างความรำคาญ ควบคุมการทำงานด้วย PLC นับจากป้อนขยะเข้าเครื่อง ๆ จะทำงานเองอย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์กันทุกระบบ จนกระทั่งขยะกลายสภาพเป็นสารปรับปรุงดินชีวภาพที่แห้งร่วน ปราศจากกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ ปลอดภัยต่อคน สัตว์ และพืช มีธาตุอาหารพืชครบถ้วนเพียงพอ โดยการต่อยอดจะวิจัยพัฒนาด้วยกระบวนการวิศวกรรมย้อนรอยจากเทคโนโลยีเครื่องแปรรูปขยะอินทรีย์เป็นสารปรับปรุงดินชีวภาพภายใน 24 ชั่วโมง ขนาดครัวเรือน รับขยะเข้า 6 กก./วัน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ภายในองค์กร
โครงการพัฒนาสร้างระบบสร้างน้ำโอโซนเข้มข้นเพื่อกำจัดเชื้อโรคในอุตสาหกรรมการผลิตผักและผลไม้ออร์กานิค(VCE64)
ปัจจุบัน เรามีการรณรงค์ให้ปลูกผักปลอดสารพิษโดยไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืช แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ยังคงมีเกษตรกรส่วนใหญ่ยังใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ถึงเกษตรกรจะเลิกปลูกผัก เลิกใช้ยาปราบศัตรูพืช แล้วก็ตาม แต่สารเคมีที่ติดค้างอยู่ในดินเดิมจะถูกพืชที่ปลูกใหม่ ดูดมาเป็นสารอาหาร และตกค้างอยู่ในผักที่เราเข้าใจว่าไม่มีสารเคมีนั่นเอง และยังคงมีเชื้อรา เชื้อจุลินทรีย์ เชื้อแบคทีเรีย ฯลฯ โดยในอุตสาหกรรมปัจจุบันได้มีการทำความสะอาดผัก โดยใช้เครื่องล้างผักโอโซนทั่วไปที่มีระบบล้างและมีเครื่องผลิตโอโซนลงในน้ำเข้าสู่เครื่องล้างผัก แต่เนื่องจากการผสมโอโซนลงในน้ำโดยไม่มีการทำละลายโอโซนลงน้ำ ทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานในการผลิตโอโซนและอาจได้ปริมาณโอโซนที่มีความเข้มข้นมากหรือน้อยเกินไป ผู้พัฒนาได้ทำการพัฒนาระบบล้างผักแบบสายพานลำเลียง ด้วยน้ำ Ozone ที่ควบคุมความเข้มข้นของ Ozone แบบอัตโนมัติ ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำละลาย โอโซน ในน้ำให้ได้ความเข้มข้นสูงและเพียงพอในการทำงานไม่ตกค้างให้เกิดอันตรายโดยมีระบบควบคุมแบบอัตโนมัติทำให้ทราบประสิทธิภาพการการควบคุมการเกิด เชื้อรา เชื้อจุลินทรีย์ เชื้อแบคทีเรีย ฯลฯ ได้
โครงการพัฒนาสร้างระบบทันตกรรมอัจฉริยะเพื่อความเสมอภาคด้านสุขภาพ(VCE64)
ปัจจุบันในประเทศไทยเริ่มมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกับงานทันตกรรม (ทันตกรรมทางไกล, Tele-dentistry) ทำให้ผู้มีปัญหาช่องปากสามารถขอคำปรึกษา (Tele-consultation) โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปพบทันตแพทย์ แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่เพียงการใช้ข้อความสนทนา ทำให้การให้คำปรึกษาทำได้อย่างจำกัด การพัฒนาสร้างระบบทันตกรรมอัจฉริยะ (Smart Dentistry) โดยเพิ่มการใช้อุปกรณ์เก็บภาพในช่องปาก (Intra-oral camera) เพื่อส่งภาพหรือวิดีโอ การสร้างระบบบันทึกข้อมูลแบบดิจิทัลและการประมวลผลโดยปัญญาประดิษฐ์ จะเพิ่มความแม่นยำของการให้คำปรึกษาและทำให้การนัดหมายมีความจำเพาะต่อความเชี่ยวชาญมากขึ้น
อย่างไรก็ตามปัจจุบันอุปกรณ์เก็บภาพช่องปากยังนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งต้องมีการโหลดแอพพลิเคชั่นที่มาพร้อมอุปกรณ์ก่อนใช้งาน การพัฒนาอุปกรณ์เก็บภาพในช่องปากพร้อมแอพพลิเคชั่น สร้างระบบการบันทึกและจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลที่เป็นของไทยเองจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากของประชาชน เพื่อความเสมอภาคด้านสุขภาพ (Health Equity) โดยยังมีความปลอดภัยในการจัดการรระบบข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล