โครงการพัฒนาระบบเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าเผาขยะและชีวมวล และลดมลพิษทางอากาศด้วยการผสมก๊าซ Oxy-Hydrogen ที่ผลิตจากน้ำ(VCE64)
ในปัจจุบันเชื้อเพลิงฟอสซิลหายากและมีราคาที่สูงขึ้น รวมทั้งการตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน และมลพิษทางอากาศที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้คนหันมาใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานธรรมชาติมากขึ้น โดยปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นหลายแห่งในประเทศ แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาการนำชีวมวลมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า แต่เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ต้องสูญเสียเชื้อเพลิงมากกว่าที่จำเป็น และยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศอีกด้วย
เนื่องจากก๊าซไฮโดรเจนเป็นก๊าซที่มีการเผาไหม้ที่ค่าความร้อนสูง ไฮโดรเจนสามารถเผาไหม้ที่อุณหภูมิถึง 2045° C ในขณะเดียวกันก๊าซมีเทนหรือก๊าซธรรมชาติจะเผาไหม้ที่อุณหภูมิเพียงแค่ 1325° C ส่วนชีวมวลจะเผาไหม้ที่อุณหภูมิประมาณ 800° C ขึ้นอยู่กับประเภทของชีวมวลที่นำมาใช้ ดังนั้นไฮโดรเจนจึงเป็นก๊าซที่สามารถใช้ในการผลิตไอน้ำที่ค่าความร้อนสูงกว่าการใช้ชีวมวลและเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงได้ทำการเติมไฮโดรเจนเข้าไปผสมกับการเผาไหม้ของชีวมวลในการต้มไอน้ำ ทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ ลดการใช้พลังงานและลดมลพิษ เนื่องจากไม่มีการปล่อยสารไฮโดรคาร์บอน คาร์บอนมอนอกไซด์ หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม