นราธิวาส
เครื่องคั้นและบรรจุน้ำบูดูกึ่งอัตโนมัติ(RID64)
ผลิตภัณฑ์น้ำบูดู ถือได้ว่าเป็นอาหารพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมในภาคใต้ ซึ่งน้ำบูดูได้มาจากการหมักปลาทะเลกับเกลือ เช่นเดียวกับการหมักน้ำปลาโดยอาศัยเอนไซม์และจุลินทรีย์จากปลาที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยใช้เวลาในการหมัก 8-15 เดือน การผลิตบูดูและการรับประทานบูดูก็กลายเป็นวิถีวัฒนธรรมของคนภาคใต้ น้ำบูดูถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมด้านอาหารของคนภาคใต้ ได้รับความนิยมในการรับประทานเป็นอย่างแพร่หลาย ซึ่งน้ำบูดูเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถหาซื้อได้ง่าย มีรสชาติดีและคุณค่าทางโภชนาการสูง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มน้ำบูดูบ้านบือราเป๊ะ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ได้ประกอบกิจการผลิตน้ำบูดูโดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการหมักจนถึงการบรรจุและจำหน่าย
ในปัจจุบันทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มน้ำบูดูบ้านบือราเป๊ะ ได้ใช้เครื่องมือการคั้นกากน้ำบูดูและการบรรจุน้ำบูดูในบรรจุภัณฑ์ด้วยเครื่องมือพื้นฐาน เช่น เครื่องบีบคั้นกากน้ำบูดูแบบมือหมุนอัด การบรรจุน้ำบูดูในขวดและในถุงพลาสติกด้วยกรวยบรรจุแบบพลาสติก ในการบวนการคั้นและบรรจุน้ำบูดูเพื่อให้หลักสุขอนามัยและให้ถูกต้องตามหลักสาธารณสุขนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครื่องบีบคั้นน้ำบูดูและเครื่องบรรจุน้ำบูดูเป็นระบบปิด ทั้งนี้เพื่อเป็นกระบวนการเข้าสู่การรับรองเครื่องหมายอาหารและยา ตลอดจนเครื่องหมายฮาลาล
ในขั้นตอนการบีบคั้นและการกรองน้ำบูดูแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นแบบเปิดนั้นมีโอกาสทำให้สิ่งปนเปื้อนสามารถปนและผสมกับน้ำบูดูได้ และกระบวนการบรรจุใส่ขวดและการบรรจุใส่ถุงพลาสติกแบบเปิดก็สามารถทำให้สิ่งปนเปื้อนเข่าได้เช่นกัน สำหรับสมาชิกผู้ปฏิบัติงานในขั้นตอนดังกล่าว หากทำงานเป็นเวลานานก็ก่อให้เกิดความความเหนื่อยล้าได้ เนื่องจากขั้นตอนและกิจกรรมการดำเนินงานยังไม่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ ซึ่งทางกลุ่มพัฒนาต้นแบบเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อการผลิตระดับชุมชน มีความเห็นว่าต้องมีการพัฒนาการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบเครื่องจักรแทนที่แรงคน ทั้งนี้เพื่อความสะอาดถูกหลักสุขอนามัยและความรวดเร็วในการบวนการผลิต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครื่องคั้นและบรรจุน้ำบูดูกึ่งอัตโนมัติเข้ามาสนับสนุนกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากว่าในบางกิจกรรมสมาชิกไม่สามารถใช้กำลังกายเป็นระยะเวลานานได้ ดังนั้นกลุ่มน้ำบูดูบ้านบือราเป๊ะ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำเครื่องจักรมาแทนที่แรงงานคน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตและคุณภาพ หรือลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออก ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกของกลุ่มสามารถไปดำเนินกิจกรรมอื่นได้
อีกทั้งเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ด้านการออกแบบและด้านการผลิตสำหรับกลุ่มพัฒนาต้นแบบเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อการผลิตระดับชุมชน ดังได้กล่าวมานั้น ผู้เสนอโครงการจึงมีแนวคิดในการแก้ปัญหาและเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตให้กับกลุ่มดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นคงให้ผู้ผลิตและสร้างคุณภาพชีวิตให้ผู้บริโภค ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศในภาพรวม