นิทรรศการ 10 ปี วิศวกรรมย้อนรอย

พฤ, 08/08/2013 - 10:46 — admin5

            วิศวกรรมย้อนรอย เป็นอีกทางเลือกของนวัตกรรมที่จะมาช่วย "ยกระดับ" การแข่งขันให้ประเทศไทยทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ บนเวทีโลก
            วิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering) เป็นกระบวนการพัฒนาโดยใช้การวิเคราะห์สืบกลับไปจากต้นแบบที่มีอยู่เดิม โดยอาศัยข้อมูลดิบ ตั้งแต่วัสดุ คุณสมบัติ จนถึงกรรมวิธีการผลิต
             แรกเริ่มวิศวกรรมย้อนรอยถูกนำมาใช้ในการทหารยุคสงครามโลกครั้งที่สองและยุคสงครามเย็นเพื่อคัดลอกเทคโนโลยี อุปกรณ์ หรือข้อมูลของประเทศอื่น อย่างที่กองทัพสหราชอาณาจักรและกองทัพอเมริกันได้ประกาศว่า เยอรมันมีถังเก็บน้ำมันเบนซินที่มีการออกแบบอย่างยอดเยี่ยม พวกเขาได้ทำวิศวกรรมผันกลับเพื่อคัดลอกถังเหล่านี้ หรือ เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ของฝ่ายอเมริกันจำนวนหนึ่งที่ไปปฏิบัติภารกิจที่ญี่ปุ่น ถูกบังคับให้ลงจอดในสหภาพโซเวียด ภายในไม่กี่ปีต่อมา โซเวียดได้สร้างเครื่องบินทิ้งระเบิด Tu-4 ซึ่งลอกเลียนแบบมาจากเครื่องบิน B-29 ทุกประการ
             ในปัจจุบัน บทบาทของตัววิศวกรรมย้อนรอยได้เปลี่ยนไป ซึ่งในการอธิบายทางวิทยาศาสตร์นั้นถือเป็นพื้นฐานที่ใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์การทำงานในแต่ละส่วน จากนั้นจึงนำมาสร้างอุปกรณ์ใหม่หรือโปรแกรมใหม่ ที่ทำงานได้เหมือนเดิม ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เป็นต้น
             แม้จะมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการ "คักลอกแบบ" ที่ผูกโยงกับเรื่องลิขสิทธิ์ อันถือว่า ผู้เป็นเจ้าของอาจคิดค้นขึ้นอย่างเป็นความลับ ขณะที่จุดมุ่งหมายของวิศวกรรมย้อนรอย คือการนำเอากระบวนการคิดการสร้างจากเดิมมาพัฒนา ปรับปรุงโดยอาศัยแนวคิดจากต้นแบบ ซึ่งมีความคาบเกี่ยวกับการหยิบยกลิขสิทธิ์ แต่อย่างไรก็ตาม ในทางเทคนิคเป็นที่ยอมรับกันว่า "เทคโนโลยีย้อนร้อย นี้ก็ได้ทำให้เกิดการ "ต่อยอด" เชิงวิศวกรรมจากสิ่งประดิษฐ์เดิมออกไปอย่างกว้างขวาง ดังนั้น อาจขยายความได้ว่าวิศวกรรมย้อนรอย ถือเป็นการคัดลอกต้นแบบแบบสร้างสรรค์ และยังเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องของการประดิษฐ์เดิมให้ดีขึ้นนั่นเอง
            สำหรับประเทศไทยนั้น เทคโนโลยีวิศวกรรมย้อนรอย ได้ช่วยพัฒนาและสร้างเครื่องจักรตามความต้องการของภาคอุตสหากรรมการผลิตที่ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศเป็นการลดต้นทุนการผลิต ทั้งในแง่ของระยะเวลาวิจัยพัฒนาที่ช่วย "เปิดโอกาส" ที่จะเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องลองผิดลองถูก อันทำให้สามารถเน้นการค้นคว้าได้อย่าง "ตรงประเด็น" และมี "ประสิทธิภาพ" มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการ "ลดค่าใช้จ่าย" ให้กับผู้ประกอบการไทยให้ลงทุนสร้างเครื่องจักร หรือเครื่องมือได้เอง โดยที่ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศอันจะช่วยลดปัญหาการซ่อมบำรุงไปโดยปริยาย
           ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของตัวเทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์ และช่วยเพิ่มศักยภาพในภาคการผลิตให้กับประเทศ สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินงานโครงการศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรในกระบวนการผลิตสื่อเพื่อลดการนำเข้าด้วยวิศวกรรมย้อนรอยและพัฒนาเทคโนโลยีของไทย มาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน
           การทำวิศวกรรมย้อนรอยตามแนวปฏิบัติแบบบูรณาการที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน คือการลอกแบบและพัฒนาอย่างครบวงจร ครบทุกส่วนและสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ การย้อนรอยวิศวกรรมเครื่องจักรที่เน้นเพื่อการออกแบบใหม่ให้สามารถทดแทนการนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมางประเภทที่มีปริมาณนำเข้ามูลค่าสูงจากต่างประเทศ การประยุกต์รายละเอียดเพื่อสอดคล้องต่อการไม่เกิดกรณีปัญหาทางสิทธิบัตร อย่างเหมาะสม รวมถึงการปรับปรุงรายละเอียดการใช้งานให้สมบูรณ์แบบ กับความต้องการของโอกาสและสถานที่ที่เปลี่ยนไปของเครื่องจักร คือหัวใจที่สำคัญที่สุดในการยกระดับการผลิตตามแบบวิศวการรมย้อนรอย
           โดยทางสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้สนับสนุนการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบสำหรับอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ออกมากว่า 50 รายการ อีกทั้งสามารถผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรมเฉลี่ยได้ 6-10 เครื่องต่อปี
           ความสำเร็จในการพัมนาเทคโนโลยีวิศวกรรมย้อนรอยสามารถดำเนินการผลิตครอบคลุมไปยังภาคส่วนต่างๆ ทั้ง อาหาร เกษตรกรรม พลังงาน สิ่งแวดล้อม เฟอร์นิเจอร์และเซรามิก ยานยนต์ และเทคโนโลยีการแพทย์ โดยมีเครื่องจักรที่ต่อยอดจากเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น เครื่อง 3D CNc Router ใช้ในการออกแบบและสร้างเครื่องจักรต้นแบบที่ใช้ในการกัด เจาะ ไม้เนื้อแข็งและพลาสติก รวมถึงโลหะอ่อนทุกชนิด ใช้ทำเป็นอุปกรณ์ตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์แกะสลักจากไม้เครื่องโฮโมจิไนซ์ UHT 2 ขั้นตอนแบบปลอดเชื้อ ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมนม อาหารเหลวชนิดต่างๆ อุตสาหกรรมผลิตยา และอุตสาหกรรมเคมี เครื่อง CNC 5 Axis for Jewelry Industry เครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณี อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เครื่องคัดขนาดกุ้งแบบลูกกลิ้ง (Roller Grader) ถือเป็นกระบวนการตั้งตนที่สำคัญของกระบวนการแปรรูปกุ้ง เครื่องไตเทียม สำหรับการกำจัดของเสียในเลือดของผู้ป่วยโรคไต เครื่องผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากขยะพลาสติก ที่สามารถผลิตได้เป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันก๊าดโซลีน ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ไม่น้อยกว่า 1,200 กิโลกรัมต่อวัน เตาเผาขยะพลาสมา ซึ่งทำให้สารประกอบอนินทรีย์เหลือจากการเผาทั้งหมดถูกหลอมรวมกันอย่างรวดเร็วและสามารถนำไปใช้เป็นวัสดุรีไซเคิลในอุตสาหกรรมต่อได้ หรือ ระบบโรงสีขนาดเล็ก สำหรับกลุ่มเกษตรชุมชน เพื่อใช้สำหรับชุมชน ในการผลิตข้าวถุงเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชนเป็นต้น
           ตัวอย่างความสำเร็จของโครงการวิศวกรรมย้อนรอยบางส่วนในโครงการนั้น ทำให้เกิดผลิตเครื่องจักรต้นแบบสู่เชิงพาณิชย์จำนวนมากกว่า 133 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าจำหน่ายกว่า 100 ล้านบาท เป็นการทดแทนการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศได้มากกว่า 150 ล้านบาท นอกจากนั้นยังสามารถสร้างมูลค่าอรรถประโยชน์จากการใช้เครื่องจักรที่พัฒนาขีดความสามารถในการผลิตได้สูงถึง 192 ล้านบาท
           จากตัวเลขดังกล่าว แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เครื่องจักรต้นแบบของไทยที่พัฒนาจากวิศวกรรมย้อนรอยเหล่านี้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับของต่างประเทศ แต่ราคาต่ำกว่าราว 30-50 เปอร์เซ็นต์และหากมีการผลิตเชิงพาณิชย์มากขึ้นจะทำให้ราคาต่ำลงได้อีก ในอนาคตหากมีการขยายกำลังการผลิตอย่างเต็มรูปแบบก็จะยิ่งช่วยลดต้นทุนการนำเข้าเครื่องจักรต่างประเทศได้อย่างมหาศาล
 

วันที่กิจกรรม: 
Sat, 03/08/2013 - 17:00
ภาพประกอบ: 
นิทรรศการ 10 ปี วิศวกรรมย้อนรอย
เอกสารแนบ: