แถลงข่าวความสำเร็จ เครื่องต้นแบบ Super Digester ด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า

อ, 11/06/2013 - 13:22 — admin5

      การออกแบบเครื่อง Super Digester คำนึงถึงการนำไปใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย มีฟังก์ชันการทำงานที่สามารถตอบสนองการทำงานได้หลายรูปแบบและสามารถเคลื่อนย้ายเครื่องไปใช้งานยังพื้นที่เป้าหมายได้สะดวกใช้เชื้อเพลิงในการผลิตที่หาซื้อได้ง่าย เช่น สามารถทำการแยกเมล็ดออกจากเยื่อหุ้มเมล็ดโดยใช้ความดัน โดยไม่ทำให้เมล็ดเกิดความเสียหายการย่อยสลายด้วยแรงดันที่อุณหภูมิห้องเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่ต้องการย่อยอาหารให้มีขนาดเล็กและยังสามารถรักษาคุณภาพของอาหารได้โดยไม่ผ่านความร้อน ระบบการย่อยสลายด้วยความร้อน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ให้มีขนาดที่เล็กลง เพื่อใช้เป็นวัสดุดิบตั้งต้น และการกลั่นน้ำมันหอมระเหย โดยใช้ความร้อนกับระบบHot  Oil และทำการควบแน่นด้วยถังควบแน่น เพื่อให้ง่ายต่อการผลิตและกลั่นน้ำมันหอมระเหย อีกทั้งการเพิ่มความดันเข้าไปในระบบ ทำให้น้ำมันหอมระเหยมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น  ในการออกแบบเครื่องนี้ จะใช้หลักในการออกแบบใหม่เข้ามาเพิ่มเติม โดยคำนึงถึงการพัฒนาเครื่องHigh Pressure Digester เดิมให้มีการพัฒนาต่อเนื่องกัน และตอบสนองต่อการนำไปใช้งานได้จริง ทั้งของผู้ประกอบการและเกษตรกรทั่วไป เพื่อให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องให้ดีมากยิ่งขึ้นทั้งยังเป็นเครื่องที่ผลิตภายในประเทศ

       การทำงานของเครื่องย่อยวิเศษ  สามารถย่อยสลายวัสดุประเภทอินทรีย์  ซึ่งประกอบด้วยพืช ผัก และผลไม้  โดยช่วยในการเร่งการย่อยสลายเซลลูโลส  ซึ่งเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ให้มีขนาดเล็กลง  เนื่องจากเซลลูโลสเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่  ประกอบด้วยโมเลกุลของน้ำตาลกลูโคสจำนวน 300 – 15,000 โมเลกุลเรียงต่อกันด้วยพันธะเคมี  ซึ่งการย่อยสลายด้วยวิธีตามธรรมชาตินั้นจะต้องใช้เวลานาน  ทำให้สิ้นเปลืองพื้นที่ในการกำจัดวัสดุเหล่านี้  การใช้พลังงานความร้อนภายใต้แรงดันสูง  จึงมีส่วนช่วยในการตัดพันธะระหว่างกลูโคสให้โมเลกุลของเซลลูโลสมีขนาดเล็กลง  ทำให้เร่งการย่อยสลายอินทรีย์สารให้เร็วขึ้น  ลดเวลาและพื้นที่ในการกำจัดวัสดุอินทรีย์ให้น้อยลง

       ถังย่อยวิเศษ ทำการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ภายในตัวถังเครื่อง โดยออกแบบให้มีใบพัดกวนวัสดุอินทรีย์ตามความเร็วรอบที่สามารถกำหนดความเร็วรอบได้เพื่อให้วัสดุอินทรีย์ได้รับความร้อนและแรงดันอย่างทั่วถึงโดยถังย่อยวิเศษนี้ สามารถทำการเพิ่มแรงดันเข้าสู่ถังได้โดยการรับความดันสูงจากระบบถังอัดความดัน เพื่อช่วยในการรักษาความดันภายในถังให้คงที่ เพื่อใช้ในการย่อยวัสดุอินทรีย์ที่อุณหภูมิห้องด้วยความดัน โดยไม่เกิดความร้อนภายในถัง เพื่อให้เกิดเป็นระบบไฮโดรลิซิสและเป็นการเพิ่มการย่อยที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

      การติดตั้งระบบการกลั่นน้ำมันหอมระเหยเพิ่มเติมเข้าไปติดตั้งถัง Super Digester เพื่อให้มีการใช้งานที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยนักวิจัยได้คิดระบบการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ condensing โดยออกแบบให้การทำงานของระบบการกลั่นเพื่อให้ไอน้ำลดอุณหภูมิลงอย่างรวดเร็ว เมื่อไอน้ำที่นำพาเอาน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากถังย่อยวิเศษจะเคลื่อนที่เป็นวงไปตามลักษณะของท่อที่ม้วนขดตัวเป็นวงกลมภายในในถังน้ำหล่อเย็นเพื่อให้เกิดการถ่ายเทความร้อนและแลกเปลี่ยนความร้อนจากไอน้ำได้อย่างทั่วถึง เกิดการลดอุณหภูมิของไอน้ำโดยฉับพลัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกลั่นให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และน้ำภายในถังน้ำหล่อเย็นเมื่อเกิดการถ่ายเทความร้อนจากไอน้ำแล้ว จะถูกเครื่องปั้มดูดไปยังระบบถัง Cooling ไปสเปร์ด้วยหัวฉีด ให้อุณหภูมิลดลงเมื่อสัมผัสกับอากาศและสัมผัสกับบริเวณด้านข้างของถังสแตนเลส ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความร้อน อีกทั้งในการออกแบบนั้น ได้ออกแบบให้ระบบทำการดึงน้ำเฉพาะบริเวณด้านบนของถังน้ำหล่อเย็นที่เกิดการแลกเปลี่ยนความร้อนกับไอน้ำออกไปลดอุณหภูมิตลอดเวลา โดยไม่ทำการลดอุณหภูมิของน้ำทั้งถังซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการลดอุณหภูมิมากกว่า จึงออกแบบให้ระบบมีแรงดันภายในระบบท่อที่อยู่ด้านล่างของถังให้มีความดันมากกว่าน้ำที่อยู๋ในถัง เพื่อให้มีความดันชนะแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้น้ำบริเวณด้านบนของถังน้ำหล่อเย็นเท่านั้น ที่จะถูกนำไปแลกเปลี่ยนความร้อน ซึ่งจะทำให้ไอ้น้ำที่มาสัมผัสกับถังด้านบนได้รับการระบายความร้อนออกไปอย่างรวดเร็ว และทำให้ภายในถังสามารถรักษาความเย็นและอุณหภูมิที่คงที่ได้ตลอดเวลาการใช้งาน

วันที่กิจกรรม: 
Thu, 25/04/2013 - 17:00
สถานที่: 
มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ภาพประกอบ: 
แถลงข่าวความสำเร็จ เครื่องต้นแบบ Super Digester ด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า