กระทรวงวิทย์ฯ ประกาศความสำเร็จ 3 เครื่องจักรต้นแบบ ด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า

พฤ, 04/04/2013 - 14:23 — admin5

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับสถาบันไทย–เยอรมัน แถลงข่าวความสำเร็จ 3 เครื่องจักรต้นแบบ ณ บริษัท สยาม เอส แอนด์ เอ็น อี เอ็นจิเนิยริ่ง จำกัด ตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556

(1) โครงการสร้างเครื่องสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรโดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์เหลวที่สภาะเหนือวิกฤต (Aroma oil extraction machine using supercritical liquid carbon dioxide)
      ในปัจจุบันน้ำมันหอมระเหยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญอย่างมากทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมีการนำเอาน้ำมันหอมระเหยนี้มาใช้ในอุตสาหกรรมที่สำคัญต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมน้ำหอม อุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และเครื่องสำอาง เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่น้ำมันหอมระเหยที่ใช้เป็นสารสังเคราะห์และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งที่ประเทศไทยมีพืชสมุนไพรมากมายที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตน้ำมันหอมระเหยหอมจากธรรมชาติเองได้ สาเหตุเนื่องจากเทคโนโลยีเดิมต้องใช้เวลาสกัดมาก ได้ปริมาณน้ำมันน้อยและสารสกัดที่ได้มีความไม่บริสุทธิ์สูง ทำให้มีคุณภาพต่ำและใช้พลังงานสูง ปริมาณที่ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่จะใช้ในเชิงอุตสาหกรรม ในปัจจุบันมีการคิดค้นวิธีการสกัดอีกวิธีหนึ่ง คือ การสกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เหลวที่สภาวะเหนือวิกฤตโดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีจุดวิกฤต ซึ่งที่สภาวะนี้คาร์บอนไดออกไซด์มีคุณสมบัติเป็นตัวทำละลายที่ดี เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการจะได้น้ำมันหอมระเหยที่มีความบริสุทธิ์สูงและคุณภาพดี แต่เครื่องสกัดน้ำมันหอมระเหยด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้มีราคานำเข้าสูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงให้การสนับสนุน สถาบันไทย-เยอรมัน ร่วมกับ บริษัท เอส อี พี จำกัด ดำเนินโครงการสร้างเครื่องสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรโดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์เหลวที่สภาะเหนือวิกฤต (Aroma oil extraction machine using supercritical liquid carbon dioxide) ภายใต้โครงการศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรในกระบวนการผลิตเพื่อลดการนำเข้าด้วยวิศวกรรมย้อนรอยและพัฒนาเทคโนโลยีของไทย เพื่อพัฒนาเครื่องสกัดน้ำมันหอมระเหยที่สามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยได้ปริมาณมากและมีคุณภาพสูงขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ ทั้งนี้ยังเป็นการช่วยลดการเสียดุลทางการค้าจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์และเครื่องจักรจากต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

 photo DSCF89356Mobile_zps4cfcc145.jpg



 
(2) โครงการสร้างเครื่องเจียระไน (Regrind) Ball Screw
      ในปัจจุบันเครื่องจักรกลซีเอนซีเป็นเครื่องจักรกลหลักในการทำงานทั้งในส่วนงานการผลิตเครื่องมือ แม่พิมพ์ ชิ้นส่วน เครื่องจักรประเภทอื่นๆ คือทำงานในแบบของเครื่องมือกลพื้นฐานหรือที่เรียกว่า Machine Tools ซึ่งเป็นเครื่องจักรต้นน้ำและเป็นเครื่องจักรที่ทำงานในส่วนงานการผลิตหลักต่างๆ ทั้งในการเจาะรู การกลึง การกัด เพื่อสร้างชิ้นงานที่จะนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์โดยตรง เทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรเหล่านี้มีส่วนงานกลที่อาศัยระบบการขับผ่าน Ball Screw เป็นหลักแทบทั้งสิ้น โดยเมื่อ Ball Screw สึกหรอหลังจากใช้งานมานาน หรือประสพภัยน้ำท่วมเช่นที่ผ่านมา จำเป็นต้องฟื้นฟูสภาพ Ball Screw หรือต้องซื้อเปลี่ยนใหม่ การสร้างเครื่องเจียระไนเพื่อซ่อม Ball Screw นับว่าเป็นประโยชน์สนับสนุนการฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรซีเอ็นซี แบบพึ่งพาตนเองโดยใช้เทคโนโลยีในประเทศและและสร้างระบบงานการซ่อมบำรุง Ball Screw ขึ้นภายในประเทศ มีประโยชน์เชิงลึกในด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์และการพึ่งพาตนเองและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งมีเครื่องจักรซีเอ็นซีที่ถูกน้ำท่วม รวมถึงเครื่องจักรกลซีเอ็นซีเก่า คิดเป็นประชากร Ball Screw ที่ต้องซ่อมเป็นจำนวนหมื่นอันโดยประมาณ โดยมีมูลค่าการซ่อมเฉลี่ยประมาณ 8,000 บาทต่ออัน รวมเป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ถึงกว่า 80 ล้านบาท และสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเครื่องจักรซีเอ็นซี กว่า 10-50 เท่าของมูลค่าเพิ่มนั้นโดยประมาณ ( 800-4,000 ล้านบาท)
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงให้การสนับสนุน สถาบันไทย-เยอรมัน ร่วมกับ บริษัท สแกนเนอร์ส สามมิติ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินโครงการสร้างเครื่องเจียระไน (Regrind) Ball Screw ภายใต้โครงการศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรในกระบวนการผลิตเพื่อลดการนำเข้าด้วยวิศวกรรมย้อนรอยและพัฒนาเทคโนโลยีของไทย เพื่อออกแบบและสร้างเครื่องเจียระไน (Regrind)Ball Screw ที่มีความแข็งแรง กะทัดรัด และสวยงาม ตลอดจนสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย อีกทั้ง เพื่อลดการนำเข้าของเครื่องจักรจากต่างประเทศ
 photo DSCF8994Mobile_zps36fc9482.jpg
 


 
(3) โครงการสร้างเตาปฏิกรณ์แบบฟูอิดไดซ์เบดแก๊สซิไฟเออร์ (Fluidized bed Gasifier)
       จากวิกฤตพลังงานส่งผลให้ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล ประเภทเชื้อเพลิงเหลว (Liquid Fuel) และเชื้อเพลิงแก๊ส (Gaseous Fuel) มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากปริมาณสำรองของเชื้อเพลิงดังกล่าวมีปริมาณน้อย และมีอัตราการนำมาใช้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้อุตสาหกรรมในประเทศมีต้นทุนพลังงานสูงจนไม่อาจแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่ใช้แหล่งพลังงานที่เป็นเชื้อเพลิงแข็ง (Solid Fuel) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาต่อหน่วยพลังงานถูกกว่าเชื้อเพลิงเหลวและเชื้อเพลิงแก๊ส ดังนั้นเชื้อเพลิงแข็งประเภทถ่านหินคุณภาพดี เช่น แอนทาไซค์ บิทูมัส และซับบิวทูมิวนัส ซึ่งเป็นถ่านหินที่มีปริมาณซัลเฟอร์ต่ำ จะได้รับการพิจารณานำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมในโอกาสอันใกล้นี้เนื่องจากปัจจัยด้านราคา ดังนั้นการแปรสภาพเชื้อเพลิงแข็งด้วยเตาปฏิกรณ์ฟลูอิดไดซ์เบดแก๊สซิไฟเออร์ เพื่อผลิตแก๊สเชื้อเพลิงสังเคราะห์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการนำเชื้อเพลิงแข็ง ชึ่งเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกมาใช้ในอุตสาหกรรมทดแทนก๊าซเชื้อเพลิงที่มีราคาแพง โดยเทคโนโลยีดังกล่าวมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ จนทำให้มีนำเข้าเตาปฏิกรณ์แบบฟลูอิดไดซ์เบดแก๊สซิไฟเออร์มาใช้ประเทศไทยแต่ก็มีข้อจำกัดด้านราคาที่สูงและการทำงานที่มีความซับซ้อน จึงเป็นเหตุให้เทคโนโลยีดังกล่าวไม่มีการแพร่หลายมากนัก  ด้วยเหตุนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงให้การสนับสนุน สถาบันไทย-เยอรมัน ร่วมกับ บริษัท สยาม เอส แอนด์ เอ็นอี เอ็นจิเนิยริ่ง จำกัด ดำเนินโครงการสร้างเตาปฏิกรณ์แบบฟูอิดไดซ์เบดแก๊สซิไฟเออร์ (Fluidized bed Gasifier) ภายใต้โครงการศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรในกระบวนการผลิตเพื่อลดการนำเข้าด้วยวิศวกรรมย้อนรอยและพัฒนาเทคโนโลยีของไทย เพื่อลดการนำเข้าของเครื่องจักรประเภทนี้กับภาคอุตสาหกรรม หรือชุมชนการเกษตรของไทย เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์แปลงเชื้อเพลิงแข็งให้เป็นเชื้อเพลิงแก็สเพื่อความสะดวกในการใช้งาน มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 photo DSCF8982Mobile_zpsc567fba1.jpg




 

วันที่กิจกรรม: 
Tue, 05/03/2013 - 17:00
ภาพประกอบ: 
total