อว. จับมือ MTEC ลงพื้นที่ติดตามและทดสอบ"เรือช้อนตักขยะและกำจัดวัชพืชในคลองซอย" ณ อบต.บางคนที
เมื่อวันพุธที่ 9 เมษายน 2568 ทีมวิจัยงานพัฒนาเครื่องจักรกล ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ลงพื้นที่ ณ ตำบลบางคนที อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อติดตามและทดสอบผลงานวิจัยการพัฒนาเรือช้อนตักขยะและกำจัดวัชพืชในคลองซอย ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลบางคนทีไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยมี นางสาวเรณู เล็กนิมิต นายก อบต.บางคนที พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนในพื้นที่
เรือช้อนตักขยะและกำจัดวัชพืชในคลองซอยเป็นกิจกรรมการพัฒนาผลงานเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อประโยชน์แก่วิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่และเป็นการสร้างความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมในการสัญจรทางน้ำให้เกิดประสิทธิภาพแก่ชุมชนมากขึ้น โดยการพัฒนาผลงานภายใต้โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ผ่านการสนับสนุนงบประมาณจากกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยผลงานดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที ขอความอนุเคราะห์มายังสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการสนับสนุนเครื่องจักรที่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาปริมาณวัชพืชที่ปกคลุมทางน้ำเพื่อง่ายต่อการสัญจรของชาวบ้านในพื้นที่มากขึ้นและทางสำนักงานได้รับการพิจารณามอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติดำเนินงานด้วยงบประมาณจากโครงการดังกล่าว
องค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการและพัฒนาชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่บางคนทีประกอบอาชีพทำสวนผลไม้เป็นหลัก ร่วมกับการดำเนินชีวิตที่พึ่งพาสายน้ำ มีสัญจรทางน้ำ ภายในพื้นที่ประกอบด้วยคลองซอยที่มีความซับซ้อนและเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มทั้งด้านการคมนาคมภายในพื้นที่และการบริหารจัดการน้ำสำหรับการเพาะปลูก แต่พบว่าทางชุมชนประสบปัญหาวัชพืชปกคลุมทางน้ำในการสัญจร ปิดกั้นช่องทางระบายน้ำ ซึ่งเดิมองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนทีมีกิจกรรมการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนพัฒนาแหล่งน้ำ กำจัดวัชพืชทุก 1 - 2 เดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณวัชพืชที่ในแต่ละครั้ง ดังนั้นจึงมีความต้องการเครื่องจักรหรือเครื่องทุ่นแรงที่เหมาะสมสำหรับนำมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในการนี้ โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า โดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ซึ่งมีผลงานเรือช้อนตักขยะที่พัฒนาและบริหารจัดการร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ในการกำจัดผักตบชวาเป็นหลัก จึงได้พัฒนาผลงานเพื่อให้สอดคล้องกับในพื้นที่บางคนที ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ตามลำคลองขนาดเล็ก โดยเป็นการออกแบบให้เป็นเรือท้องแบนขนาดหน้ากว้าง 2 เมตร ความยาว 5 เมตร ประกอบด้วยเครื่องยนต์ดีเซลต้นกำลังขนาด 25 แรงม้า ด้วยระบบเก็บรวบรวมวัชพืชน้ำและผักตบชวาที่ออกแบบเป็นสายพานลำเลียงจำนวน 2 ชุด มีประสิทธิภาพการทำงานที่สามารถดึงวัชพืชขึ้นมาพักบนเรือได้ 200 กิโลกรัม พร้อมด้วยระบบขนถ่ายย้ายเทจากแหล่งน้ำสู่ริมฝั่งคลองที่ช่วยทุ่นแรงจากการทำงานของเครื่องจักรที่ออกแบบและพัฒนาจากทีมวิศวกรที่มีประสบการณ์ โครงสร้างหลักของเรือทั้งหมดผลิตและประกอบขึ้นด้วยเหล็กกล้าไร้สนิมเกรด 304 ทำให้ทนทานต่อการกัดกร่อนทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย สามารถใช้งานในระยะยาว ซึ่งหลังจากนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที นำผลงานไปทดสอบการใช้ประโยชน์จริงเป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อร่วมประเมินและนำเสนอข้อมูลแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการต่อยอดองค์ความรู้และการขยายผลในเชิงสาธารณะประโยชน์ และในอนาคตสามารถเชิญผู้แทน/ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแหล่งทุนสนับสนุนในกิจกรรมครั้งนี้ร่วมเยี่ยมชมผลการดำเนินงานในโอกาสต่อไป