สป.อว. พร้อม สวทช. ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวเรือนำเที่ยวไฟฟ้าแบบไฮบริดใช้พลังงานลมและโซล่าเซลล์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่ พัฒนาโดย ม.อ.
กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (MTEC สวทช.) สนับสนุนทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาและการบริหารจัดการโครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการพัฒนาผลงานชื่อ “โครงการพัฒนาเรือนำเที่ยวไฟฟ้าแบบไฮบริดใช้พลังงานลมและโซล่าเซลล์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่ ประเทศไทย”
วันพุธที่ 12 มีนาคม 2568 นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อม ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวรายงานแถลงข่าวเปิดตัวเรือนำเที่ยวไฟฟ้าฯ พร้อมผู้แทนจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (MTEC สวทช.) รศ.ดร.พลชาติ โชติการ คณบดีคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้แทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รศ.ดร.มนตรี เลื่องชวนนท์ หัวหน้าโครงการวิจัยและคณะทีมวิจัยผู้พัฒนาผลงาน มีนายชาญฤทธิ์ เพิ่มทรัพย์ ประธานชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดกระบี่ จำนวน 18 หน่วยงานมีคนเข้าร่วมทั้งสิ้น 67 ราย ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวเรือนำเที่ยวไฟฟ้าแบบไฮบริดใช้พลังงานลมและโซล่าเซลล์เพื่อการท่องเที่ยวฯ ดังกล่าว ณ บุหลันอันดา บาบ๋า รีสอร์ท ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่
ผลงานเรือนำเที่ยวไฟฟ้าแบบไฮบริดใช้พลังงานลมและโซล่าร์เซลล์เพื่อการท่องเที่ยวฯ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำกรอบแนวทางและแผนการขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานด้าน อววน. เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน เพิ่มศักยภาพให้ได้มาตรฐานในระดับสากล และเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคและนานาชาติ” ณ โรงแรมกระบี่ รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้เป็นการท่องเที่ยวสีเขียว (Green tourism) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางน้ำที่สำคัญคือ “เรือหัวโทง” ที่นิยมใช้ในแถบพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน พัฒนาให้เป็นพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษทางเสียงและไร้ควัน ลดการใช้เครื่องยนต์สันดาปและน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีผลกระทบต่อการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการติดตั้งระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า สำรองพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่จากชุดผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์สำหรับการขับเคลื่อนเรือหัวโทงด้วยต้นกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้า พร้อมด้วยกังหันลมแนวตั้งเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าเสริมเข้าสู่ระบบประจุไฟฟ้า เป็นการใช้พลังงานสะอาดเพื่อสนับสนุนขับเคลื่อนเรืออีกทางหนึ่ง โดยผลลัพธ์และผลงานดังกล่าว สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของการท่องเที่ยวทางเรือในจังหวัดกระบี่ พร้อมกับการนำเสนอรูปแบบการใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีในเชิงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยม (Premium tourism) สร้างรายได้แก่คนในชุมชนที่มากขึ้น รวมทั้งต่อยอดและยกระดับการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานในระดับสากล ตลอดจนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคสู่ความเป็นสากลในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวง อว. นั่นคือ “วิจัย - นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” โดยเน้นประเด็นสำคัญของประเทศ ทั้งนี้ ผลงานการพัฒนาสร้างเรือนำเที่ยวไฟฟ้าแบบไฮบริดใช้พลังงานลมและโซล่าเซลล์เพื่อการท่องเที่ยวฯ นี้ เป็นตัวอย่างผลงานที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเรือพลังงานไฟฟ้า ตอบโจทย์ Krabi Go Green ได้เป็นอย่างดี
ผลงานเรือนำเที่ยวไฟฟ้าแบบไฮบริดใช้พลังงานลมและโซล่าเซลล์เพื่อการท่องเที่ยวฯ เป็นผลงานที่พัฒนาขึ้นโดย รศ.ดร.มนตรี เลื่องชวนนท์ คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้แนวคิดการนำเรือหัวโทงขนาด 23 กง (ขนาด 9.4 x 13 x 2.7 เมตร) มาปรับปรุงให้สามารถแล่นหรือขับเคลื่อนด้วยแหล่งพลังงานแบบผสมหรือไฮบริด ใช้พลังงานจากแผงโซล่าเซลล์ที่กำลังการผลิตสูงสุด 3,960 วัตต์ ผ่านอินเวอร์เตอร์ เพื่อป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอรี่ (แบตเตอรี่ ลิเธี่ยมไอออนฟอสเฟส (LiFePO4) โดยการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ เริ่มต้นจากระบบกักเก็บพลังงานของแบตเตอรี่ซึ่งเป็นกระแสตรงจ่ายผ่านกล่องควบคุมเพื่อแปลงกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เป็นกระแสสลับแล้วจึงเข้าสู่มอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อขับใบพัดเรือและเนื่องจากมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนเรือด้วยการหมุนใบพัดจึงสามารถปรับความเร็วรอบการหมุนไปหน้าหรือถอยหลังได้ด้วยกล่องควบคุมระบบไฟฟ้าในขณะที่ระบบกังหันลมเป็นชุดกังหันลมแนวตั้งขนาด 6,000 วัตต์ ชุดใบของกังหันลมเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ดึงพลังงานจากความเร็วลมส่งผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอัดประจุเข้าสู่แบตเตอรี่เป็นการสนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม
เพื่อสนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนหลักที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยต้นกำลังมอเตอร์ไฟฟ้า ที่เป็นการออกแบบให้ใช้งานร่วมกับเครื่องยนต์ดีเซลในรูปแบบไฮบริด สามารถเลือกใช้ต้นกำลังทั้ง 2 ได้ ผ่านการโยกสลับในระบบส่งกำลัง โดยกำหนดให้ผลงานฯ ใช้ต้นกำลังหลักคือมอเตอร์ไฟฟ้า ส่วนเครื่องยนต์ดีเซล (ขนาด 85 แรงม้า) เป็นต้นกำลังสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉิน เช่น ระบบไฟฟ้าขัดข้อง หรือพลังงานจากแบตเตอรี่หมดในระหว่างแล่นเรือ เป็นต้น
ในการทดสอบขับเคลื่อนเรือเพื่อประเมินสมรรถนะเป็นระยะทาง 4.89 กิโลเมตร โดยเป็นการสาธิตการแล่นเรือและการทำงานของกลไกต่าง ๆ ของผลงาน ด้วยการนำคณะผู้บริหารหน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องล่องเรือชมภาพเขียนสีโบราณอายุ 3,000 ปี และแพกระชังแหลมสักในพื้นที่อำเภออ่าวลึก จากการทดสอบเดินเครื่องมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตลอดระยะทางพบว่าเรือสามารถทำความเร็วได้ในช่วงระหว่าง 10 - 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (5.4 – 8.0 น็อต) ซึ่งแม้ว่าเรือผลงานดังกล่าวทำความเร็วได้ช้ากว่าเรือหัวโทงทั่วไปที่ขนาดเท่ากัน ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลเพียงอย่างเดียว เนื่องจากผลงานเป็นการดัดแปลงเรือเพื่อบรรทุกน้ำหนักจากระบบโซล่าเซลล์ การติดตั้งแบตเตอรี่ที่ท้องเรือ ชุดห้องเกียร์และระบบส่งกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้า แต่การเดินเรือที่ลดมลภาวะทางเสียงและกลิ่นควันไอเสียตลอดการสาธิต คือจุดเด่นของผลงานที่สร้างความประทับใจให้ผู้โดยสารที่ร่วมทดสอบเป็นอย่างดี
โดยผลงานมีการออกแบบที่สามารถบรรทุกน้ำหนักผู้โดยสารไม่เกิน 1 ตัน โดยประมาณ หรือจำนวนผู้โดยสารระหว่าง 10 – 15 คน รัศมีการเลี้ยว (จากตำแหน่งหยุดนิ่ง) 28.2 เมตร ในกรณีที่ใช้งานขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อนำนักท่องเที่ยวโดยสารในเส้นทางท่องเที่ยวดังกล่าวตลอดปี สามารถประมาณการได้ถึงการมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันดีเซลประมาณ 99,000 บาทต่อปี
ผลงานเรือนำเที่ยวไฟฟ้าแบบไฮบริดใช้พลังงานลมและโซล่าเซลล์เพื่อการท่องเที่ยวฯ จะมีการนำไปใช้งานจริงด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่แหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ โดยนายชาญฤทธิ์ เพิ่มทรัพย์ ประธานชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก และในฐานะสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยว จะเป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำเสนอต่อสาธารณะให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ เป็นเรือต้นแบบให้ปรากฏแก่สายตานักท่องเที่ยวและเป็นที่รู้จักแก่แวดวงการท่องเที่ยวทางน้ำต่อไป โดยกำหนดเส้นทางท่องเที่ยวหลักในเบื้องต้น คือการนำชมทิวทัศน์โดยรอบแหลมสัก ที่ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ภายใต้แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความสอดคล้องกับ Krabi Go Green ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ของจังหวัดกระบี่ ที่มีการนำเอาพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มาประยุกต์ใช้กับเรือนำเที่ยว สามารถลดการปล่อยมลพิษจากเครื่องยนต์ดีเซล ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่เกิดมลพิษทางเสียง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายนี้ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาผลงานที่ดีและเป็นประโยชน์จนสำเร็จ