สป.อว. MTEC จับมือ วิทยาลัยสหวิทยาการ เกาะสมุย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมวิจัยพัฒนาสร้างเครื่องจักรที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษเหลือทิ้งจากการผลิตน้ำมันมะพร้าว

ศ, 27/09/2024 - 16:28 — admin2

วันที่ 25 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) นำโดย นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ผอ.กปว.) เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว และ ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ผธท.) เป็นผู้กำกับดูแลโครงการ พร้อมด้วยนายธนาภรณ์ โกราษฎร์ วิศวกรอาวุโส หัวหน้าโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบฯ ดร.ศุภกิจ วรศิลป์ชัย วิศวกรอาวุโส และนายดุสิต ตั้งพิสิฐโยธิน วิศวกรอาวุโส นักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (MTEC สวทช.) ร่วมแถลงข่าวความสำเร็จ “การพัฒนาสร้างเครื่องจักรที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษเหลือทิ้งจากการผลิตน้ำมันมะพร้าว” ภายใต้ “โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า” โดยได้รับการต้อนรับจาก ดร.จันทร์พร ช่วงโชติ รองคณบดีวิทยาลัยสหวิทยาการ เกาะสมุย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวสรุปแนวทางการดำเนินงานและภาพรวมความสำเร็จ

นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ผอ.กปว.)กล่าวว่าตามที่ท่าน รมว.อว. มีนโยบายด้านการวิจัยและนวัตกรรม คือ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” เน้นประเด็นสำคัญของประเทศ ได้แก่ Go Green พอเพียง ความยั่งยืน (Sustainability) ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) พลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมีทั้งมิติที่ทำเพื่อความเป็นเลิศ และมิติเพื่อสร้างความมั่นคงของชีวิตและเศรษฐกิจ โดย อว. จะเน้นหลักการสำคัญ คือ “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน” โดยให้เอกชนผู้ที่จะใช้ประโยชน์เป็นผู้กำหนดทิศทางว่าควรจะทำเรื่องอะไร อย่างไร หลังจากนั้นหน่วยงาน ภายใต้สังกัด อว. จะเข้าไปดำเนินการและสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง อย่างเช่น “การพัฒนาสร้างเครื่องจักรที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษเหลือทิ้งจากการผลิตน้ำมันมะพร้าว” ที่แถลงข่าวความสำเร็จในวันนี้ ที่เกิดจากการเสนอประเด็นปัญหาของผู้ประกอบการในพื้นที่เกาะสมุยเนื่องจากกระบวนการผลิตน้ำมะพร้าวจะมีเศษวัสดุเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก เช่น กะลามะพร้าว และเปลือกมะพร้าว ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เกิดมลพิษทางทัศนียภาพ จึงร้องขอให้ทาง อว. เข้ามาช่วยพัฒนาเครื่องจักรเพื่อแก้ปัญหา ดังกล่าว โดยการพัฒนาสร้างเครื่องจักรดังกล่าว เป็นการแปรรูปเปลือกมะพร้าวให้กลายเป็นวัสดุทดแทนไม้ซึ่งอยู่ในรูปของถาดเสิร์ฟอาหารว่าง เป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเกาะสมุย และเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรม นำมาแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด สุดท้ายนี้ ผมขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับความสำเร็จในการพัฒนาสร้างเครื่องจักรที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษเหลือทิ้งจากการผลิตน้ำมะพร้าว ภายใต้โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่าในครั้งนี้ และใคร่ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานฝีมือคนไทยให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างต่อไป และกระทรวง อว. ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาและองค์กรธุรกิจ ที่มุ่งสร้างสรรค์ผลงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศ ต่อไป

ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ผธท.)กล่าวว่า ที่มาของการวิจัยพัฒนาสร้างเครื่องจักรที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษเหลือทิ้งจากการผลิตน้ำมันมะพร้าว นั้น สืบเนื่องมาจาก การลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน U2T ณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ของท่านดนุช ตันเทอดทิตย์ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้รับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยสถานประกอบการได้เสนอปัญหาเรื่องเศษเหลือทิ้งจากผลิตน้ำมันมะพร้าว ซึ่งมีจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เดิมที่มีผู้รับซื้อไปทำที่นอนแต่ปัจจุบันผู้รับซื้อได้ลดลงอย่างมาก การขนส่งไปกำจัดภายนอกเกาะมีค่าใช้จ่ายสูง ท่านเลขาฯ จึงมีนโยบายให้ทางกระทรวง อว. หานักวิจัยเข้ามาช่วยพัฒนาเครื่องจักรที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศษเหลือทิ้งจากมะพร้าวเหล่านี้ เพื่อป้องกันการเผาซึ่งจะทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และธุรกิจท่องเที่ยว จึงทำให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดย กปว.สป.อว. ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับโจทย์และไปวิจัยพัฒนาจนได้เครื่องจักรที่นำมาติดตั้งและเปิดตัวในวันนี้

โดยผลงานความสำเร็จดังกล่าวเป็นงานที่พัฒนาขึ้นโดย ดร.ศุภกิจ วรศิลป์ชัย และคณะ นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยผลงานดังกล่าวมีแนวคิดพัฒนาเครื่องจักรสำหรับขึ้นรูปเปลือกมะพร้าวที่บดย่อยแล้วให้เป็นวัสดุทดแทนไม้ในรูปของถาด โดยไม่จำเป็นต้องใส่ตัวประสาน ประกอบไปด้วยสองส่วนหลักคือ
1. เครื่องบดย่อย ทำหน้าที่บดย่อยเปลือกมะพร้าวให้ละเอียดเพียงพอสำหรับการบดอัด ต้นแบบเครื่องบดย่อยประกอบไปด้วย shredder และ hammermill ที่ขับด้วยมอเตอร์ 2HP และ 5HP ตามลำดับ จะทำงานร่วมกันเพื่อบดย่อยเปลือกมะพร้าว ให้มีความยาวของใยมะพร้าวอยู่ในช่วง 5 – 15 มิลลิเมตร โดยสามารถบดย่อยเปลือกมะพร้าวได้ 80 กรัมต่อนาที
2. เครื่องอัดด้วยความร้อน ทำหน้าที่กดอัดเปลือกมะพร้าวที่บดย่อยแล้วเพื่อขึ้นรูปเป็นถาดที่มีลักษณะตามที่ต้องการ ต้นแบบเครื่องกดอดด้วยความร้อนมีขนาดแรงกดอัดเท่ากับ 40 ตัน ขับด้วยมอเตอร์ไฮดรอลิกขนาด 10HP การให้ความร้อนที่แบบแม่พิมพ์เป็นการควบคุมแบบแยกจากกัน โดยแม่พิมพ์แบบ punch และ die ใช้ heater ขนาด 1,000 และ 4,500 วัตต์ ตามลำดับ ค่าแรงดันเท่ากับ 40 ตัน ที่ความร้อนของแบบแม่พิมพ์ในช่วงอุณหภูมิ 160 – 165 องศา

จากการทดสอบพบว่าการพัฒนานี้เป็นการหาสภาวะที่เหมาะสมเพื่อสามารถขึ้นรูปวัสดุทดแทนไม้ในรูปของถาดได้อย่างเหมาะสมโดยที่ไม่ต้องผสมตัวประสาน (binder) อื่น ๆ ลงไป และใช้สารลิกนินที่มีอยู่ในตัวเปลือกมะพร้าวเองเป็นตัวประสาน เพื่อให้ผลลัพท์ที่ได้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยมีกำลังการผลิตถาดอยู่ที่ 20 ถาดต่อชั่วโมง มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 15.50 บาทต่อถาด

พร้อมเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมงานให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเกาะสมุย ผู้อำนวยการสนามบินสมุย สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย สมาคม
สปาสมุย และ ททท. สำนักงานเกาะสมุย เป็นต้น นอกจากนี้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลสมุยยังยินดีสนับสนุนในการเปิดพื้นที่ให้วางผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเครื่องจักรดังกล่าว เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของเกาะสมุยในด้านสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างสินค้าส่งออกจากขยะเปลือกมะพร้าว สร้างโอกาสในการสร้างรายได้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการได้อีกด้วย

วันที่กิจกรรม: 
Tue, 24/09/2024 - 17:00
สถานที่: 
ณ วิทยาลัยสหวิทยาการ เกาะสมุย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
ภาพประกอบ: 
สป.อว. MTEC จับมือ วิทยาลัยสหวิทยาการ เกาะสมุย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมวิจัยพัฒนาสร้างเครื่องจักรที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษเหลือทิ้งจากการผลิตน้ำมันมะพร้าว