สป.อว. MTEC จับมือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมวิจัยพัฒนาสร้างชุดอุปกรณ์สนับสนุนการแปรรูปมังคุดและผลิตผลทางการเกษตร ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี

จ, 02/09/2024 - 10:16 — admin2

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการสนับสนุนงบประมาณ “โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า” เพื่อส่งเสริมการพัฒนา วิจัย และสร้างนวัตกรรมในการผลิตเครื่องจักรไว้ใช้ภายในประเทศ โดยฝีมือคนไทยเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ

วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2567 นายจิรวัฒน์ วงษ์สมาน นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ผู้แทนกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ในฐานะหน่วยงานผู้สนับสนุนงบประมาณโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า เป็นประธานในงานแถลงข่าวความสำเร็จ “โครงการพัฒนาสร้างชุดอุปกรณ์สนับสนุนการแปรรูปมังคุดและผลิตผลทางการเกษตร” พร้อมด้วยนายธนาภรณ์ โกราษฎร์ วิศวกรอาวุโส หัวหน้าโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบฯ ผู้แทนศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะหน่วยบริหารจัดการโครงการ และ ผศ.ดร.ศรินยา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คณบดีคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ ร่วมแถลงข่าว และชมการสาธิตการทำงานของชุดอุปกรณ์สนับสนุนการแปรรูปมังคุดฯ ณ อาคาร 24 คณะพาณิชยนาวีนานาชาติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

นายจิรวัฒน์ วงษ์สมาน ผู้แทนกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์ เป็นการให้ทุนวิจัยพัฒนาสร้างองค์ความรู้ทางด้าน เทคโนโลยีเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ ขึ้นภายในประเทศ โดยจะแบ่งเป็น 2 แนวทางคือ วิจัยพัฒนาเครื่อง ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ หรืออาจเป็นเครื่องที่ถอดแบบมาจากของต่างประเทศ ด้วยกระบวนการวิศวกรรมย้อนกลับ หรือที่เรียกว่า Reverse Engineering แล้วนำมาสร้างใหม่ให้มีฟังก์ชั่นการทำงานทัดเทียมกับของต่างประเทศ “โครงการพัฒนาสร้างชุดอุปกรณ์สนับสนุนการแปรรูปมังคุดฯ” เกิดขึ้นจากประเทศไทยส่งออกมังคุดเป็นจำนวนมาก ราคาในท้องตลาดประมาณ 30 บาท/กิโลกรัม และเกรดส่งออกราคาประมาณ 100 - 200 บาท/กิโลกรัม โดยมีแหล่งเพาะปลูก 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดระยอง จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดชุมพร โดยประเทศที่นิยมบริโภคมังคุด ได้แก่ ประเทศจีน ประเทศเวียดนาม และประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น ช่วงปี 2564 – 2565 เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ประเทศไทย Lock down ส่งผลให้เกิดปัญหาด้าน Logistic ทำให้มังคุดส่งออกไม่ได้ เกิดปัญหามังคุดล้นตลาดราคาตกต่ำ 7 บาท/กิโลกรัม จึงมีความจำเป็นต้องหาเครื่องมือมาแปรรูปมังคุด ให้ยืดระยะเวลาเก็บรักษามังคุดให้นานออกไปเพื่อค่อย ๆ ระบายมังคุดสู่ท้องตลาด และหวังว่าชุดอุปกรณ์สนับสนุนการแปรรูปมังคุดฯ จะสามารถสร้าง Impact ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดและช่วยแก้ปัญหาในยามที่ราคามังคุดตกต่ำได้

ผศ.ดร.ไพรีพินาศ พิมพิสาร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมทางทะเล กล่าวว่า จากข้อมูลที่ลงสำรวจเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ ได้ทราบถึงปัญหาของเกษตรกร ว่ามีผลผลิตของมังคุด ที่ไม่ถึงเกณฑ์ส่งออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเน่าเสียหรือทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงมีแนวคิดในการแปรรูปมังคุดให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันไม่สามารถแปรรูปได้ทัน เนื่องจากต้องใช้มือบีบมังคุดทีละลูกทีมวิจัยจึงคิดค้นนวัตกรรมเครื่องแยกไซส์และปลอกเปลือกมังคุดอัตโนมัติ ทำให้สามารถแปรูปผลผลิตได้ไวขึ้น

โดยผลงานความสำเร็จดังกล่าวเป็นงานที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายศุภเชษฐ์ ปัญญา นักวิจัยบริษัทพรีเมียมโรโบติค จำกัด โดยผลงานดังกล่าวมีแนวคิดเพื่อการพัฒนาเครื่องมือทุ่นแรงในการแยกผลมังคุดออกจากเปลือก ในกรณีที่มังคุดมีจำนวนมากเกินความต้องการของตลาดจึงต้องนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูป โดยผู้วิจัยได้ออกแบบเครื่องมือให้ทำงาน 2 รูปแบบ ดังนี้
1. เครื่องปอกมังคุดแม่นยำสูง มีการตรวจสีและขนาดของมังคุดด้วยกล้องตรวจจับพร้อมระบบเซนเซอร์สกรีนนิ่งในการวัดความสูงของมังคุด หากตรวจสอบคุณภาพของมังคุดไม่ได้มาตรฐานวัตถุดิบถูกดำเนินการคัดทิ้ง (Reject) ส่วนมังคุดที่ได้มาตรฐานเข้าสู่เครื่องกดด้วยระบบนิวเมตริก มีใบมีดซ้าย - ขวา วิ่งเข้าใกล้เปลือกด้วยความเร็วที่ช้าลง โดยมีระบบเซนเซอร์วัดความเร็วรอบ จากนั้นแท่นวางมังคุดถูกหมุนเพื่อให้ใบมีดกรีดเปลือกมังคุดและกลิ้งไหลลงจุดรับวัตถุดิบ

2. เครื่องบีบเปลือกมังคุด โดยใช้หลักการกดตามระยะที่กำหนดเพื่อให้เปลือกแตก โดยการนำมังคุดที่ผ่านการคัดขนาด 3 ขนาด ได้แก่ 5 ซม. 6 ซม. และ 7 ซม. ใส่ลงตะแกรงจากนั้นตั้งระยะการกดของมังคุดแต่ละขนาดผ่านการตั้งแหวนปรับระยะเมื่อกดปุ่มออโต้เครื่องจะกดจนกระทั่งถึงลิมิตสวิตช์ตามขนาดที่เลือกไว้และจะยกขึ้นเป็นการจบรอบการทำงานเมื่อกดให้เปลือกปริแตกแล้วจึงนำมาฉีกแยกออกด้วยมือ

จากการทดสอบ พบว่าสามารถลดจำนวนแรงงานคน เวลาและต้นทุนในการผลิต เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วมให้เกิดการทำงานด้านเกษตรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามการออกแบบจากความต้องการและการใช้งานของเกษตรกร ส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในพื้นที่รอบนอกให้มีกําลังในการซื้อขายได้อีกด้วย โดยผลงานดังกล่าวจะนำไปส่งมอบให้แก่เกษตรกรแปลงใหญ่ในจังหวัดชุมพร เพื่อใช้งานต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

วันที่กิจกรรม: 
Fri, 30/08/2024 - 17:00
สถานที่: 
ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ภาพประกอบ: 
สป.อว. MTEC จับมือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมวิจัยพัฒนาสร้างชุดอุปกรณ์สนับสนุนการแปรรูปมังคุดและผลิตผลทางการเกษตร ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี