อว. ร่วมกับ สวทช. ร่วมแถลงข่าวความสำเร็จการพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบ ภายใต้โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร

อ, 06/08/2024 - 10:48 — admin2

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 เจ้าหน้าที่กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จการพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบ ภายใต้โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ดำเนินงานโดย สมาคมเครื่องจักรกลไทย ภายในงาน “มหกรรมส่งเสริม การใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนด้วยพลังสหวิทยาการ” (อว.แฟร์) ณ โซน ThaiTAMThueng (Thai Technologies & Automatic Machinery Trade) Exhibition Hall 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผลงานสำเร็จ จำนวนทั้งสิ้น 9 ผลงาน มีรายละเอียดดังนี้

1) ผลงานการพัฒนาสร้างเครื่องผลิตสีน้ำขนาดเล็กกำลังการผลิต 250 ลิตรต่อชั่วโมง พัฒนาโดย บริษัท มิสซิเบิล เทคโนโลยี จำกัด เป็นระบบการผลิตสีน้ำสูตร Loading คือ ระบบการผลิตสีน้ำที่แยกกระบวนการผลิตออกเป็นขั้นตอนโดยเริ่มต้น จากกระบวนการผลิต Mill Base ซึ่งเป็นกระบวนการผสม CaCO3/TiO2 กับ น้ำ และ Additive อื่น ๆ เพื่อเป็น Base เนื้อสีเริ่มต้น ถูกส่งต่อไปในกระบวนการเก็บ Mill Base (Storage Mill Base) จากนั้นจะส่ง Mill Base มายังกระบวนการ Letdown ซึ่งเป็นกระบวนการที่นำ Mill Base มาผสมกับ Latex และ Additive เพื่อให้เป็นสี Base สีขาว และเข้าสู่กระบวนการแต่งเฉดสี (Tinting) เพื่อส่งไปบรรจุในกระบวนการสุดท้าย ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีการผสมของเหลวความหนืดสูงมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดของเสียที่เกิดจากการผลิตได้เป็นอย่างดี

2) การพัฒนาสร้างเอไอแพลตฟอร์มสำหรับงานด้านเทคโนโลยีการผสมของเหลว เป็นการทำงานที่เชื่อมโยงกันกับผลงานเครื่องผลิตสีน้ำขนาดเล็กกำลังการผลิต 250 ลิตรต่อชั่วโมง พัฒนาโดย บริษัท มิสซิเบิล เทคโนโลยี จำกัด เพื่อต้องการใช้งานเครื่องมือสำหรับการกวนของเหลวที่จำเป็นต้องวิเคราะห์การไหลของของเหลวที่จะผสม โดยการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ผ่าน platform ได้แก่ (1) Artificial Neural Network มาใช้ในการทำนายค่าในอนาคตโดยใช้ Algorithm ชนิดต่าง ๆ พร้อมใช้การตัดสินใจของสมองมนุษย์และสามารถป้อน Training Data และ Output เพื่อให้ Ai สร้างสมการทำนายและตัดสินใจกระบวนการทำงานต่อไปได้ (2) Fluid Mixing Technology การรวบรวมทฤษฎีต่าง ๆ ที่ใช้ในการออกแบบเข้ามาสู่แพลตฟอร์ม เพื่อทำงานร่วมกันกับ Ai (3) Data Base เป็นการใช้เทคโนโลยี Cloud เพื่อทำการเก็บระบบฐานข้อมูล และ (4) Digital Platform เป็นแพลตฟอร์มในรูปแบบของ WEB APP เพื่อให้ได้ผสลัพธ์ที่ถูกต้องและแม่นยำ นำไปสู่การขยายตัวทางธุรกิจของภาคการผลิตเครื่องจักรสำหรับด้านการผสมของเหลวต่อไปในอนาคต

   

3) การพัฒนาสร้าง ABOT หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวพืชไร่ พัฒนาโดย บริษัท ที.ซี.เวลดิ้ง ออโตเมชั่น จำกัด เพื่อนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทย ที่มีการใช้เทคโนโลยี AI ระบบควบคุมหุ่นยนต์ด้วยโปรแกรมอัตโนมัติ ใช้ระบบเคลื่อนที่การทำงานด้วย Lidar โดยใช้ sensor และ GPS มีการออกแบบทรงล้อแทรคเพื่อสามารถใช้งานได้ในพื้นที่ที่เป็นดินนิ่ม ลาดชันได้ ระบบสามารถรับส่งสัญญาณการทำงานได้ไกลถึง 1 กิโลเมตร พร้อมระบบการปลิดฝักข้าวโพดและสายพานลำเลียงข้าวโพดไปยังกระบะ เพื่อช่วยให้การทำงานของเกษตรกรมีความสะดวก รวดเร็วมากขึ้น สามารถลดแรงงานคนที่ต้องทำงานหนักในพื้นที่เกษตรตลอดเวลา รวมทั้งการเก็บเกี่ยวมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการสูญเสียผลผลิต และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

4) เครื่องกัดและเจาะ EDM แบบ 5 แกน โดย บริษัท สแกนเนอร์ส สามมิติ (ประเทศไทย) จำกัด ปัจจุบันอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีความต้องการชิ้นงานที่มีความซับซ้อนและแม่นยำมากขึ้น ซึ่งเดิมกระบวนการกัด CNC และเจาะแบบกลึง ไม่สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ “เครื่องกัดและเจาะ EDM แบบ 5 แกน” เป็นเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงที่ผสมผสานการกัดแบบ CNC ร่วมกับกระบวนการกัดเซาะโลหะด้วยไฟฟ้า (EDM) เข้าด้วยกัน ส่งผลให้การผลิตชิ้นงานที่มีความซับซ้อนและแม่นยำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถออกแบบอวัยวะเทียมได้อย่างยืดหยุ่น ตามลักษณะกายภาพของผู้ป่วย มีความพอดีกับร่างกายผู้ป่วย และผลิตชิ้นงานจากวัสดุได้หลากหลายชนิด ใช้งานง่าย สะดวก และปลอดภัย ด้วยโครงสร้างเครื่องที่แข็งแรง รองรับการสั่นสะเทือนได้ดี

5) การพัฒนาสร้างระบบการวัดความยาวความแม่นยำสูงด้วยเลเซอร์ พัฒนาโดย บริษัท อินดัสเตรียล ออโตเมชั่น แอนด์ อินโนเวชั่น จำกัด เป็นการพัฒนาระบบสอบเทียบเครื่องมือวัดขนาดที่ใช้ในการตรวจสอบและผลิตตลับเมตร ที่มีความยาวสูงสุดมากถึง 10 เมตร ด้วยมาตรฐานระดับสากล กระบวนการตรวจวัดจึงต้องการความละเอียดในระดับไมครอน ด้วยการวัดความเข้มแสงเลเซอร์ จากกระบวนการแปลงสัญญาการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของลำแสงที่ควบคุมให้แยกสัญญาณออกเป็น 2 ส่วนและรวมกลับเข้าด้วยกันเพื่ออ่านค่าความเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของเลเซอร์ ที่สะท้อนจากตำแหน่งปลายทางของระยะทางที่ต้องการวัด และแปลงค่าต่าง ๆ ให้แสดงเป็นระยะทางเพื่อการใช้งาน โดยที่ผลงานการพัฒนานี้ เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานในลักษณะ system integrator หรือ SI ที่เกิดเป็นธุรกิจ tech provider ลักษณะนี้มากขึ้นตามยุคสมัย

6) การพัฒนาชุดต้นแบบรถนำทางและรถเดินตามแบบเคลื่อนที่แบบอิสระสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 เป็นผลงานการพัฒนาของ บริษัท ดีพเทค เทคโนโลยี จำกัด เป็นการนำรถขนของที่เคลื่อนที่แบบอิสระที่มีจำหน่ายเป็นรถนำทาง หรือรถ AGV ตัวนำ และได้ออกแบบและสร้างรถเดินตามหรือรถ AGV ตัวตามต้นแบบ โดยการพัฒนาระบบควบคุมรถ AGV ตัวตาม ที่สามารถติดตามรถ AGV ตัวนำ ด้วยการใช้กล้องเป็นตัวตรวจรู้สัญลักษณ์ QR Code ที่ติดอยู่กับรถ AGV ตัวนำ และวัดระยะห่างจากเซ็นเซอร์อัลตร้าโซนิค ที่ระยะห่าง 50 – 150 เซนติเมตร และการสั่งบังคับเลี้ยวของรถ AGV ตัวตาม ให้เคลื่อนที่ติดตามรถ AGV ตัวนำได้ ซึ่งมีการขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง โดยจะมีมอเตอร์ทำการส่งกำลังไปยังเกียร์ทด เพื่อเพิ่มแรงบิด และส่งกำลังต่อไปยังเพลาหลังเพื่อทำการขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง ให้รถเดินหน้าและถอยหลัง สามารถสั่งการบังคับเลี้ยวเดินได้ที่ 2 ล้อหน้า โดยการทำงานของมอเตอร์ทดแทนพวงมาลัย ซึ่งรถเดินตามสามารถบรรทุกของได้ที่ 200 กิโลกรัม ด้วยความเร็วสูงสุด 1 เมตรต่อวินาที

 

7) เครื่องฟลูอิดไดซ์เบดแกรนูลเลเตอร์ พัฒนาโดย บริษัท ยูโร เบสท์ เทคโนโลยี จำกัด เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่สามารถทำให้ของแข็งที่มีลักษณะเป็นผงละเอียดเกาะกลุ่มเป็นก้อนขนาดเล็ก โดยกระบวนการพ่นสารประสานวัตถุดิบเป็นผงได้อย่างทั่วถึง ภายในห้องผสมเป็นถังสแตนเลส ด้านในถังประกอบด้วยห้องลมร้อน มีลมร้อนที่ผ่านการกรองตัวกรองอากาศ และให้ความร้อนด้วยฮีตเตอร์ โดยลมร้อนจะถูกดูดไหลผ่านตะแกรงวัตถุดิบจะถูกลมร้อนยกลอยขึ้นจากด้านล่างและหมุนลอยอยู่ในถังอบแห้ง ทำให้ผงเกาะเป็นเม็ดแกรนูล ที่กำลังการผลิตวัตถุดิบน้ำหนัก 30 กิโลกรัมต่อครั้ง ใช้เวลาในการทำงาน 30 - 45 นาทีต่อครั้ง ทำให้ผงที่ได้สามารถละลายง่าย ชงดื่มสะดวกมากขึ้น

8) เครื่องผสมแกรนูลชนิดความเร็วสูง โดย บริษัท ยูโร เบสท์ เทคโนโลยี จำกัด เป็นการพัฒนาเครื่องที่มีความต่อเนื่องกับการผลิตผงชงดื่ม ในการผสมผงสำเร็จรูปให้มีคุณลักษณะเฉพาะ ด้วยการเติมของเหลวประเภทที่ต้องการเข้าไปในผง granule ผ่านกระบวนการกวนที่มีประสิทธิภาพสูงและการเติมของเหลวเพื่อปรุงรสชาติ หรือเป็นตัวประสานตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นกระบวนการผสมใน mixing chamber ที่ดูดอากาศออก ทำให้ลดการฟุ้งกระจาย ลดความชื้นที่อาจปนเปื้อนของผง ตลอดจนรักษาปริมาณของเหลวที่ต้องการผสมให้คงที่

9) การพัฒนาสร้างเทคโนโลยีดิจิตอลกับการบริหารขยะโรงพยาบาล โดยบริษัท เทอร์ม เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผลงานที่นำเทคโนโลยีเรื่องการอ่านข้อมูลด้วยบาร์โค้ดมาใช้ในการทำงาน ติดตามกระบวนการขนส่งถังขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาล โรงพยาบาล คลินิก ตลอดถึงการจัดเก็บและเผาที่ถูกต้อง ข้อมูลประกอบด้วย วัน/เดือน/ปี เวลา น้ำหนัก สถานที่ ผู้รับ และผู้ส่ง ซึ่งเป็นวิธีการจัดการ/ควบคุมปริมาณขยะได้อย่างละเอียดแม่นยำผ่านระบบออนไลน์ที่มีความทันสมัยมากขึ้น ทราบผลตลอดเวลา จากข้อมูลทั้งหมดสามารถทราบปริมาณขยะของแต่ละสถานที่นั้น ๆ ได้ในแต่ละเดือน และสามารถควบคุมการกำจัดขยะติดเชื้อได้ 100%

 

 

วันที่กิจกรรม: 
Thu, 25/07/2024 - 17:00
สถานที่: 
ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
ภาพประกอบ: 
อว. ร่วมกับ สวทช. ร่วมแถลงข่าวความสำเร็จการพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบ ภายใต้โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
อว. ร่วมกับ สวทช. ร่วมแถลงข่าวความสำเร็จการพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบ ภายใต้โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร