สป.อว. ร่วมกับ สวทช. ลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการเผาไหม้มูลฝอยติดเชื้อโดยใช้เทคโนโลยีพลาสมาแบบไมโครเวฟ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

พ, 03/07/2024 - 15:35 — admin2

เมื่อวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2567 คณะทำงานในโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กปว.)สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) นำโดยนายจิรวัฒน์ วงษ์สมาน นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ร่วมกับผู้แทนจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงพื้นที่ดำเนินงาน ณ อาคารเกษตรภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อหารือและตรวจติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการเผาไหม้มูลฝอยติดเชื้อโดยใช้เทคโนโลยีพลาสมาแบบไมโครเวฟ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรษา ลิบลับ เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับคณะนักวิจัยโครงการ ได้นำเสนอรายละเอียดผลการดำเนินงาน ที่มีความต่อเนื่องจากการพัฒนาโรงเผาขยะขึ้นภายใต้กิจกรรมของศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่มีการพัฒนาผลงานรองรับกระบวนการเผาขยะติดเชื้อในช่วงการระบาดของ COVID-19 และได้รับทุนจากโครงการเพื่อพัฒนาผลงานในการสนับสนุนการเผาทำลายขยะติดเชื้อที่รวบรวมจากทั้งโรงพยาบาลภายในมหาวิทยาลัยเอง และจากสถานพยาบาลภายในเมืองนครราชสีมา ซึ่งนำมาสู่การดำเนินกิจกรรมการพัฒนาผลงานที่ต่อเนื่องด้วยทุนสนับสนุนจากโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่าในปัจจุบัน

โดยผลงานที่พัฒนาขึ้นในโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการเผาไหม้มูลฝอยติดเชื้อโดยใช้เทคโนโลยีพลาสมาแบบไมโครเวฟ คือการออกแบบและพัฒนาชุดหัวเผาด้วยเปลวพลาสมา หรือ plasma torch ที่เดิมศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีใช้งานอยู่เดิมเป็น plasma torch ประสิทธิภาพสูง สร้างเปลวพลาสมาจากการ arc ที่เกิดขึ้นระหว่างขั้ว electrode ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างอนุภาค plasma แบบทั่วไปในระบบเปลวพลาสมาในอุตสาหกรรม ซึ่งสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าและเป็นรูปแบบที่จำเป็นต้องเปลี่ยนขั้ว electrode เป็นประจำ ตามอายุการใช้งาน ในขณะที่ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเอง ประสบความสำเร็จในการพัฒนา plasma torch ได้ด้วยการเหนี่ยวนำอากาศหรือแก๊สที่ป้อนเข้าสู่ plasma torch ให้เกิดการแตกตัวเป็นอนุภาค plasma ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีแบบเดิมที่ต้องมีขั้ว electrode และการ arc ซึ่งอุณหภูมิของเปลวพลาสม่าจากระบบ arc แบบเดิมอาจสูงถึง 2,000 องศาเซลเซียส ในขณะที่เปลวพลาสม่าจากระบบไมโครเวฟมีเป้าความสำเร็จ ในระดับความร้อนขั้นต่ำที่ 1,300 องศาเซลเซียส และสามารถปรับปรุงให้เพิ่มได้สูงจนถึงระดับ 1,700 องศาเซลเซียส เพื่อรองรับการเผาไหม้ในห้องเผาไหม้ที่ 2 สำหรับกระบวนการเผาขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อ ซึ่งจำเป็นต้องมีห้องเผาไหม้หลัก 2 ส่วนต่อเนื่องกัน คือการเผาทำลายขยะเป็นห้องที่ 1 และเผาควันที่รับจากห้องเผาไหม้ที่ 1 มาเพื่อการทำลายสารพิษตกค้างจำพวก dioxin ซึ่งจำเป็นต้องเผาด้วยอุณหภูมิขั้นต่ำที่ระดับ 1,200 องศาเซลเซียส โดยในโครงการ จะดำเนินการออกแบบสร้างห้องเผาไหม้ที่ 2 ด้วยการรับควันเข้าจากส่วนล่าง มีระบบการบังคับทิศทางให้ไหลผ่าน plasma torch แบบไมโครเวฟที่จะติดตั้งจำนวน 2 หัว หันทิศทางของเปลวพลาสม่าให้ช่วยบังคับทิศทางการไหลของควันจากทางเข้า ให้ขึ้นสู่ทางออกที่ส่วนบนของห้องเผาไหม้ที่ออกแบบการไหลด้วยกระบวนการสร้างแบบจำลอง flow analysis ด้วยการคำนวณจาก computer simulation ที่ดำเนินการภายใต้ทีมนักวิจัยในโครงการ

โดยโครงการดังกล่าวคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์และส่งมอบเพื่อการใช้งานและขยายผล รองรับการสร้างผลกระทบในด้านต่าง ๆ เพื่อการรายงานผลให้กับทางกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายในไม่เกินเดือนพฤศจิกายน 2567 ปลายปีนี้

วันที่กิจกรรม: 
Mon, 01/07/2024 - 17:00
สถานที่: 
ณ อาคารเกษตรภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ภาพประกอบ: 
สป.อว. ร่วมกับ สวทช. ลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการเผาไหม้มูลฝอยติดเชื้อโดยใช้เทคโนโลยีพลาสมาแบบไมโครเวฟ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี