การติดตามการดำเนินงานโครงการ“การพัฒนาเรือนำเที่ยวไฟฟ้าแบบไฮบริดใช้พลังงานลมและโซล่าเซลล์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่ ประเทศไทย”
วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม 2567 คณะผู้แทนกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ลงพื้นที่ร่วมกับผู้แทนศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้ “โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ประจำปีงบประมาณ 2567” เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการ“การพัฒนาเรือนำเที่ยวไฟฟ้าแบบไฮบริดใช้พลังงานลมและโซล่าเซลล์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่ ประเทศไทย” ซึ่งได้รับโจทย์มาจากกรอบแนวทางและแผนการขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานด้าน อววน. เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน เพิ่มศักยภาพให้ได้มาตรฐานในระดับสากลและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคและนานาชาติ ได้มีการสนับสนุนงบประมาณให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาต้นแบบเรือหัวโทงไฟฟ้าแบบไฮบริด เพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาเรื่องมลภาวะทางเสียง และไอเสียจากเรือหัวโทงแบบดั้งเดิมที่ใช้สำหรับรับการท่องเที่ยว
โครงสร้างเรือเหัวโทงขนาด 23 กง (จำนวนกระดูงูของเรือ) เป็นเรือขนาดกลาง ซึ่งเหมาะแก่การเป็นเรืองนำเที่ยวมาก ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป มีขนาดความยาวท้องเรือ 9.4 m ความสูงจากท้องเรือ 1.3 m ภายในเรือมีความกว้างตรงกลาง 2.7 m ส่วนหัวกว้าง 1.9 m และส่วนท้ายกว้าง 2.5 m มีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์รวม 3,960W (4kW) และกังหันลมแนวแกนตั้งขนาด 6 kW พร้อมระบบพลังงานร่วมระหว่าง เครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 85 แรงม้า และมอเตอร์ (BLDC) ขนาด 10kW (ขับพลังงานสูงสุดได้ 13 kW) แบตเตอรี่ลิเธียมฟอสเฟส 72V 200A ระบบจัดการชาร์จแบตเตอรี่ (BMS) Smart BMS JIKONG 200/300A เสริมระบบชาร์จด้วย Active Balance 16S-8S อีก 2 ตัว เพื่อให้ระบบมีการชาร์จและปล่อยประจุไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพสูงสุด แสดงผลผ่าน Application ในโทรศัพท์มือถือ แสดงค่าการชาร์จประจุไฟฟ้าของแบตเตอรี่
จากผลการติดตามโครงการพบว่าทางผู้พัฒนาได้ดำเนินการประกอบเครื่องยนต์สันดาปและมอเตอร์ไฟฟ้าต้นกำลัง พร้อมเชื่อมต่อชุดเฟื่องเกียร์ สลับต้นกำลัง เสร็จแล้ว รอการนำไปติดตั้งเข้ากับเรือ และดำเนินการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าและระบบแบตเตอรี่ ต่อไป