กปว. พร้อม สถาบันไทย-เยอรมัน ร่วมลงพื้นที่ตรวจติดตามเครื่องลอก กะเทาะเยื่อและคัดขนาดเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ณ อำเภอเมือง จังหวัดตราด
วันอังคารที่ 16 มกราคม 2567 เจ้าหน้าที่กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) พร้อมสถาบันไทย - เยอรมัน ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการพัฒนาสร้างเครื่องลอก กะเทาะเยื่อและคัดขนาดเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ภายใต้โครงการพัฒนาเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อการผลิตระดับชุมชน พัฒนาโดยนายวรพจน์ ตรีรัตน์ฤดี จากวิทยาลัยเทคนิคตราด ทำการติดตั้งและทดสอบการใช้เครื่อง ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนวัดเนินสูง ตำบลตะกาง อำเภอเมือง จังหวัดตราด
ปัจจุบันกระบวนการแปรรูปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ใช้มีดปลายแหลมในการลอกเยื่อและแรงกดเพื่อให้เยื่อเมล็ดหลุดออกหมด ซึ่งเสี่ยงอันตรายต่อนิ้วมือได้ง่ายและคุณภาพไม่ได้ตามที่ต้องการ เมื่อเยื่อเมล็ดหิมพานต์ถูกลอกหมดนำมาคัดขนาดด้วยสายตา จำเป็นต้องใช้บุคคลที่มีประสบการณ์สูง เพื่อให้ได้ขนาดตรงตามมาตรฐาน ทำให้ใช้เวลาในการทำงานที่นานขึ้น เครื่องลอก กะเทาะเยื่อและคัดขนาดเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ถูกพัฒนาเพื่อตอบโจทย์การทำงาน โดยเริ่มจากการนำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ผ่านการอบใส่ในภาชนะสำหรับลอกเยื่อ ใช้หลักการหมุนวนของกระแสลม จากนั้นเมล็ดถูกจ่ายด้วยแรงดันลมเข้าไปในถังลอกเยื่อ ถูกเคลื่อนที่ทำให้เยื่อหลุดออกลงภาชนะรองรับด้วยกระแสลมเป่า เมื่อครบเวลาการทำงานของชุดผลิตลม ระบบจะหยุดการจ่ายลม เมล็ดถูกไหลลงตะแกรงเพื่อทำการกะเทาะเยื่อที่ตกค้างอีกครั้ง โดยการเขย่าของเมล็ดด้วยการหมุนของตะแกรง เมื่อทำการกะเทาะเยื่อออกหมดถูกนำไปใส่ในถังคัดขนาด ด้วยเครื่องคัดขนาดเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ด้วยการเขย่าผ่านตะแกรง เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ได้มี 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ เล็กและเมล็ดแตก ที่กำลังการผลิต 2 กิโลกรัมต่อชั่วโมง
หลังจากทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ทดสอบประสิทธิภาพการใช้เครื่อง ได้รับความพึงพอใจเป็นอย่างดี ใช้งานสะดวก ปลอดภัยต่อการใช้งาน ลดระยะเวลาการทำงานได้ดีและสินค้าที่ได้มีคุณภาพอีกด้วย
วันที่กิจกรรม:
Mon, 15/01/2024 - 17:00
สถานที่:
ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนวัดเนินสูง ตำบลตะกาง อำเภอเมือง จังหวัดตราด