สป.อว เดินหน้าพร้อม สถาบันไทย-เยอรมัน ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนา "ระบบติดตามการทำงานและประเมินสภาพความสั่นสะเทือนของเครื่องจักรอัตโนมัติด้วยระบบ IOT" ณ จังหวัดลพบุรี
วันที่ 9 มกราคม 2567 เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับ สถาบันไทย-เยอรมัน ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนา "ระบบติดตามการทำงานและประเมินสภาพความสั่นสะเทือนของเครื่องจักรอัตโนมัติด้วยระบบ IOT" ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการพัฒนาระบบอัตโนมัติ/สมาร์ทเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคผลิตและบริการ พัฒนาโดย นายพาราดิน จันทเขตต์ จาก สถาบันไทย-เยอรมัน และถูกนำไปติดตั้งเพื่อทดสอบสมรรถนะ-ประสิทธิภาพและนำไปใช้งาน ณ บริษัท ส.วิริยะเกษตร จำกัด จังหวัดลพบุรี
ในอุตสาหกรรมเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต วิธีการบริหารจัดการการใช้เครื่องจักรในกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพนั้นมีความสำคัญ เนื่องจากการทำงานโดยใช้เครื่องจักรสามารถพบปัญหาที่ทำให้กระบวนการทำงานเกิดความผิดพลาดได้ เช่น เครื่องจักรที่มีอายุการใช้งานมานาน อาจเกิดการสึกหรอ หรือชำรุดเสียหาย ในขณะที่การใช้งานเครื่องจักรในวิธีการที่ไม่เหมาะสมก็สามารถทำให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องจักรและส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตได้เช่นกัน
"ระบบติดตามการทำงานและประเมินสภาพความสั่นสะเทือนของเครื่องจักรอัตโนมัติด้วยระบบ IOT" เป็นระบบที่ใช้ในการตรวจสอบความผิดปกติของเครื่องจักร ทั้งที่เกิดจากสภาพเครื่องจักรและจากการใช้งานที่ไม่เหมาะสม โดยสังเกตจากข้อมูลอุณหภูมิ การสั่นสะเทือน และการใช้พลังงาน ระบบที่พัฒนาจะมีการแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น โดยการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดความสั่นสะเทือน อุณหภูมิ และกระแสไฟฟ้า ที่บริเวณมอเตอร์ของเครื่องจักรและนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับค่าที่กำหนด หรือเทียบกับเครื่องอื่นๆ ที่อยู่ในสภาพปกติ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกรวบรวมเก็บในระบบคลาวด์ และแสดงผลแบบเรียลไทม์ (ทุก 15 นาที) โดยสามารถดูข้อมูลได้ทั้งจาก คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ มีการแสดงผลเป็นตัวเลขและกราฟที่สามารถแสดงพฤติกรรมการทำงานของเครื่องจักรว่ากำลังทำงานหรือมีความผิดปกติหรือไม่ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกเก็บในระบบประมาณ 1 - 2 เดือน ซึ่งสามารถบันทึกข้อมูลเป็นไฟล์เพื่อนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับหาค่าที่เหมาะสมในการปรับค่าการแจ้งเตือนความผิดปกติที่เหมาะสมกับเครื่องจักรแต่ละชนิด
ระบบที่พัฒนานี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ใช้ติดตามความผิดปกติของเครื่องได้ด้วยตนเอง ด้วยฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์ ช่วยให้ผู้ประกอบการพบความผิดปกติและแก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิตได้ทันเวลา ลดโอกาสเกิดความเสียหายของเครื่องจักรและยังสามารถนำไปปรับใช้กับเครื่องยนต์มอร์เตอร์อื่นๆ ต่อไปได้
วันที่กิจกรรม:
Mon, 08/01/2024 - 17:00
สถานที่:
ณ บริษัท ส.วิริยะเกษตร จำกัด จังหวัดลพบุรี