MTEC และ สป.อว. ร่วมกับเทศบาลนครรังสิต ทดสอบการใช้งานต้นแบบเรือกวาดเก็บกระทง ผลงานพัฒนาภายใต้โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า
เมื่อวันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม ร่วมกับเทศบาลนครรังสิต ทดสอบการใช้งานต้นแบบเรือกวาดเก็บกระทง ผลงานพัฒนาภายใต้โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า
กิจกรรมประเพณีลอยกระทง มีการนำกระทงจำนวนมากลงสู่แหล่งน้ำ และภายหลังจากกิจกรรมมี กระทงจำนวนมากที่จำเป็นต้องได้รับการนำออกจากแหล่งน้ำ ในทันที ไม่ว่าจะเป็นกระทงชนิดที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย พืชต่างๆ หรือ ขนมปัง รวมถึงประเภทไม่สามารถย่อยสลายได้ เช่น กระทงโฟม โดยกระทงเหล่านี้กลายสภาพเป็นขยะตกค้างในแหล่งน้ำต่างๆ ที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในทุกปี ทั้งในแหล่งน้ำพื้นที่เปิดและพื้นที่ปิด โดยเฉพาะในแหล่งน้ำธรรมชาติในเขตชุมชนจำเป็นต้องได้รับการกำจัดขยะกระทง ดังนั้น หน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบจึงจำเป็นต้องดำเนินการโดยทันทีภายหลังจากกิจกรรมประเพณีลอยกระทง เพื่อคืนทัศนียภาพแหล่งน้ำให้กลับมาปกติและเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้กระทงจำนวนมากกลายสภาพเป็นขยะที่เน่าเสียและสร้างมลพิษ
ในการนี้ โครงการสร้างเครื่องจักรด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า โดยกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ MTEC สวทช. โดยทีมวิจัยงานพัฒนาเครื่องจักรกล ได้มีส่วนร่วมในการป้องกันการก่อมลพิษทางน้ำ ด้วยการพัฒนาผลงานต้นแบบเรือกวาดเก็บกระทงขึ้น มีลักษณะการออกแบบขึ้นเพื่อการกวาดเก็บกระทงและขยะลอยในแหล่งน้ำ คูคลอง หรือบึง ซึ่งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางน้ำ รวมถึงการคมนาคมทางน้ำ
โดยเรือถูกออกแบบให้มีขนาดเล็ก แข็งแรง ทนทาน และน้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยแรงงานคน มีพื้นที่บรรทุกสำหรับขนย้ายสิ่งของและอุปกรณ์ และสามารถขนย้ายไปยังแหล่งน้ำเป้าหมายได้ด้วยรถกระบะ ชิ้นส่วนหลักที่ประกอบด้วยตัวเรือท้องแบน ขนาด 1.5 เมตร X 3 เมตร เครื่องยนต์ต้นกำลัง 1 สูบ 11 แรงม้า และตะแกรงกวาดดันกระทงที่สามารถปรับระดับการโอบกวาดขยะลอยได้กว้างมากกว่า 3 เมตร ทั้ง 3 ส่วนสามารถถอดประกอบได้ง่าย เพื่อความสะดวกสำหรับแยกส่วนในการขนย้ายไปยังแหล่งน้ำต่างๆ ตามแผนงานในการจัดเก็บกระทงให้ได้หลายพื้นที่ใน 1 วัน
การพัฒนาต้นแบบเรือกวาดเก็บกระทง เป็นการพัฒนาในระดับต้นแบบที่พร้อมใช้งานได้จริง เป็นการขยายผลต่อเนื่องจากการพัฒนาเรือช้อนตักขยะทิ้งริมตลิ่งสำหรับคลองชุมชน (ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งานจริงเพื่อประเมินสมรรถนะการทำงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 2) ออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัยงานพัฒนาเครื่องจักรกล MTEC สวทช. ด้วยงบประมาณสนับสนุนจาก กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม ภายใต้โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาผลงานกลุ่มเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ ที่มีความต้องการใช้งานแต่มีราคาสูง การพัฒนาและปรับปรุงแบบด้วยกระบวนการทางวิศวกรรมอย่างเหมาะของการเลือกพัฒนากลไกทางเลือก ต้นกำลังและแหล่งพลังงานที่แตกต่าง และการเลือกใช้วัสดุที่มีส่วนในการสร้างเสริมประสิทธิภาพให้สอดคล้องต่อความต้องการ และการคำนึงถึงเป้าหมายในการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงกับกลุ่มเป้าหมายที่สามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ได้ต่อไป คือแนวคิดในการพัฒนาผลงานภายใต้โครงการ
ในการทดสอบใช้งานต้นแบบเรือกวาดเก็บกระทง ได้รับความอนุเคราะห์จากเทศบาลนครรังสิต นำต้นแบบเรือกวาดเก็บกระทง ลงใช้งานสนับสนุนขั้นตอนการกวาดเก็บกระทง ณ คอลงรังสิตประยูรศักดิ์ พื้นที่ส่วนประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปีนี้ พื้นที่ดังกล่าว มีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมลอยกระทงประมาณ 15,000 คน ปริมาณขยะกระทงที่เกิดขึ้นหลังกิจกรรมลอยกระทง คาดว่ามีจำนวนประมาณ 20 ตัน แบ่งเป็นกระทงขนมปัง 60% และกระทงใบตอง 40% แม้กระทงทั้งหมดจะทำจากวัสดุธรรมชาติ แต่ก็ยังสามารถเน่าเสียและเกิดเป็นมลพิษตกค้างในแหล่งน้ำได้ หน่วยงานดูแลพื้นที่จำเป็นต้องรวบรวมนำออกจากแหล่งน้ำในทันทีด้วยเครื่องมือและเครื่องทุ่นแรงที่เหมาะสม ซึ่งนอกเหนือจากผลงานต้นแบบเรือกวาดเก็บกระทง โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ยังมีผลงานอีกจำนวนมากพร้อมนำเสนอสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง