ผอ.กปว. พร้อมนักวิจัย MTEC ลงพื้นที่ติดตามกิจกรรมการพัฒนาผลงานเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเศษเหลือทิ้งจากการผลิตน้ำมันมะพร้าว ณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมผู้แทนทีมวิจัยงานพัฒนาเครื่องจักรกล ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เดินทางเข้าพบผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี วิทยาเขตเกาะสมุย เพื่อประชุมความก้าวหน้าในกิจกรรมการพัฒนาผลงานเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเศษเหลือทิ้งจากการผลิตน้ำมันมะพร้าว ในเชิง Upcycle/Upcycling เพื่อสอดคล้องนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.ศุภกิจ วรศิลป์ชัย ผู้รับผิดชอบกิจกรรมฯ นำเสนอแผนงานและความก้าวหน้าให้แก่ทีมในพื้นที่ร่วมดำเนินกิจกรรม ซึ่งมี ดร. จันทร์พร ช่วงโชติ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และคณะฯ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ ความคืบหน้าในการดำเนินงานภายหลังจากที่ได้รับนโยบายจากเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำมาสู่การมอบหมายให้แก่หน่วยงานผู้รับผิดชอบที่มีขีดความสามารถและพันธกิจที่เหมาะสม ซึ่งผ่านขั้นตอนการศึกษาและนำเสนอแผนงาน พัฒนากระบวนการการศึกษาและวิจัยคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องของวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตจากมะพร้าว มาสู่การพัฒนาเครื่องจักรและเครื่องมือที่เกี่ยวข้องเฉพาะด้าน ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยฯ จนมีความคืบหน้ามาตามยลำดับและเกินกว่าครึ่งของเนื้องานตามแผนงานแล้วในปัจจุบัน และหารือในพื้นที่ครั้งนี้ คณะฯ ยังได้ตรวจเยี่ยมโรงประลอง หรือโรงเรือนเพื่อการพัฒนาผลงานในเชิง Upcycling ให้กับเศษเหลือทิ้ง หรือ waste จากกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าว และกระบวนการผลิตและแปรรูปมะพร้าวบนพื้นที่เกาะสมุย ภายใต้กิจกรรมและโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า โดยเป็นการจัดสรรพื้นที่ภายในวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว จัดสร้างขึ้นบนพื้นที่ขนาด 4 X 6 ตารางเมตร สูง 3.5 เมตร พร้อมแผนงานเพื่อรองรับการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องจักรแปรรูป waste จากกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าว คาดว่าจะพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ในอีก 2-3 เดือน เพื่อเดินหน้าความร่วมมือระหว่างโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบฯ และวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ในพื้นที่ จะได้ร่วมผลักดันผลงานให้ขยายผลได้ตามเป้าหมาย โดยมีแผนงานที่จะสำเร็จและนำเสนอผลงานสู่สาธารณะได้ในช่วงปลายปี 2566