สป.อว. และ TGI ร่วมลงพื้นที่ติดตามเครื่องคัดขนาดปลาหมอความแม่นยำสูงระบบกึ่งอัตโนมัติ ณ อำเภอนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
17 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) พร้อมสถาบันไทย - เยอรมัน ร่วมลงพื้นที่ติดตามโครงการเครื่องคัดขนาดปลาหมอความแม่นยำสูงระบบกึ่งอัตโนมัติ พัฒนาโดย นายเกียรติศักดิ์ เส้งพัฒน์ และคณะ จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ติดตั้งและใช้งาน ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพบ้านห้วยทราย หมู่ที่ 3 ตำบลทรัพย์ทวี อำเภอนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ปัจจุบันปลาหมอชุมพร1 เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากเลี้ยงง่าย โตเร็วในระยะเวลา 3-4 เดือน โดย วิสาหกิจชุมชนฯ มีแปลงเลี้ยงขนาดใหญ่ จำนวน 50 บ่อ มีผลผลิตจากการจับปลาครั้งละ 10 บ่อ จำนวน 1000 กิโลกรัมต่อบ่อ โดยปลาหมอชุมพร1 มีการจัดจำหน่าย ขนาด 2-3 ตัวต่อกิโลกรัม กิโลกรัมละ 80 บาท ขนาด 4 ตัวต่อกิโลกรัม กิโลกรัมละ 70 บาท ขนาด 5 ตัวต่อกิโลกรัม กิโลกรัมละ 60 บาท และแบบคละขนาด กิโลกรัมละ ราคา 50 บาท เนื่องจากขาดเครื่องจักรและบุคลากรในการคัดแยกขนาด จึงทำให้วิสาหกิจชุมชนฯ ขายแบบคละขนาด ทำให้ได้ราคาต่ำ จากการทดสอบการใช้เครื่องคัดขนาดปลาหมอฯ อัตราการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 100 ตัวต่อนาที หลักการทำงานคือ ป้อนปลาหมอคละขนาดเข้าสู่สายพานเพื่อนำปลาไปผ่านระบบการชั่งน้ำหนักแบบโหลดเซลล์ระดับอุตสาหกรรมที่มีความแม่นย่ำสูง ระบบจะทำการประเมินผลเพื่อควบคุมกลไกคัดขนาดอัตโนมัติ โดยปลาที่คัดขนาดแล้ว จะตกลงในภาชนะรองรับ ทั้งนี้นวัตกรรมดังกล่าวช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อจำหน่ายสดและแปรรูป เนื่องจากสามารถคัดขนาดปลาเป็นได้ เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาด