เจ้าหน้าที่ กปว. และสถาบันไทย - เยอรมัน ร่วมลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาเครื่องล้างและคัดขนาดละมุด ณ วิสาหกิจชุมชนละมุดตำบลท่าตอ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
1 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสถาบันไทย – เยอรมัน ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาเครื่องล้างและคัดขนาดละมุด พัฒนาโดย ดร.สิงห์รัญ ชารี และคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อการผลิตระดับชุมชน ติดตั้งและใช้งาน ณ วิสาหกิจชุมชนละมุดตำบลท่าตอ ตำบลท่าตอ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดิมวิสาหกิจชุมชนฯ ใช้แรงงานคนในการล้างและคัดแยกขนาดละมุด ใช้เวลาทำงานหลายขั้นตอน ตั้งแต่ล้าง ผึ่งลม และคัดขนาด ทำให้ผิวละมุดเกิดการช้ำเสียหายส่งผลต่อคุณภาพ อีกทั้งยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการล้างและคัดขนาดละมุดที่มีจำนวนมากในฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้ผลิตสินค้าไม่ทันส่งขาย จนเกิดการเน่าเสีย โดยเครื่องล้างและคัดขนาดละมุดที่พัฒนาสามารถลดแรงงานคน ลดเวลาการทำงาน ลดขั้นตอนในการล้างละมุด สามารถคัดขนาดละมุดได้ 3 ขนาด ขนาดเล็ก กลางและขนาดใหญ่ ทำให้ขายได้ราคาสูงขึ้น จากเดิมต้องขายแบบคละขนาด ช่วยรักษาคุณภาพของผลละมุดหลังจาการล้าง โดยเครื่องฯ เหมาะสมกับวิสาหกิจชุมชน ใช้งานง่ายและเคลื่อนย้ายได้สะดวก ขนาดโดยประมาณ 50 x 300 x 150 ขนาดเครื่องโดยประมาณ 300 กิโลกรัม กำลังการผลิต 180 กิโลกรัมต่อชั่วโมง มีระบบการป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร เช่น ไฟแสดงสถานะการทำงาน ปุ่มกดหยุดฉุกเฉิน สติกเกอร์ชี้จุดอันตราย กำลังการผลิตจากเดิม 400 กิโลกรัมต่อวัน เป็น 1,000 กิโลต่อวัน ทำให้ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน