ก.วิทยฯ ส่งมอบเครื่องม้วนอัดก้อนชีวมวลมัดเชือกอัตโนมัติ เพื่อช่วยลดปัญหาหมอกควันและไฟป่า พร้อมทั้งสร้างอาชีพเสริมให้เกษตรกร ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม

พ, 21/06/2017 - 17:26 — admin5

     กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และเทศบาลตำบลท่าผา ดำเนินการพัฒนาสร้างเครื่องม้วนอัดก้อนชีวมวลมัดเชือกอัตโนมัติ เพื่อจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร จากเปลือกและซังข้าวโพด เพื่อลดปัญหาหมอกควันและไฟป่า

อีกทั้งยังสร้างอาชีพเสริมให้เกษตรกรสามารถนำเปลือกข้าวโพดที่จัดเก็บไปทำเป็นอาหารหมักเพื่อเลี้ยงโคได้ด้วย โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ส่งมอบเครื่องม้วนอัดก้อนชีวมวลมัดเชือกอัตโนมัติ เพื่อจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร (Biomass Baler Machine with Automatic bundle) แก่เทศบาลตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (สส.สป.) เป็นผู้แทนฯ นายสุพจน์ ริจ่าม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าผา โดยมีนายอรรถชา  กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และนายชวลิต  รุ่งอิทธิวงศ์ หัวหน้าโครงการฯ ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน ณ ศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560

2017 06 19 002  2017 06 19 010

    นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวง วิทยาศาสตร์ฯ (สส.สป.) กล่าวว่า พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่เกิดความรุนแรงของปัญหาหมอกควันและไฟป่ามากที่สุด มีความต้องการเครื่องจักรที่สามารถทำงานทดแทนแรงงานคนได้อย่างรวดเร็ว มาช่วยบริหารจัดการกำจัดวัสดุเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อช่วยลดความรุนแรงของปัญหาจากการเผาทำลายทิ้ง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยปี พ.ศ. 2558 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้วิจัยพัฒนา “เครื่องม้วนเก็บใบอ้อย ต่อพ่วงรถแทรคเตอร์” แต่ในพื้นที่ตำบลท่าผามีความลาดชันสูง รถแทรคเตอร์ เข้าถึงได้ยาก กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ร่วมกับเทศบาลตำบลท่าผา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ดำเนินการพัฒนาสร้างเครื่องม้วนอัดก้อนชีวมวลมัดเชือกอัตโนมัติ ที่สามารถทำงานได้ทั้งแบบอยู่กับที่และเคลื่อนที่ได้ เพื่อช่วยรวบรวมวัสดุเศษเหลือทิ้ง ได้แก่ ต้น ตอ ใบ เปลือก และซังจากไร่ข้าวโพด ซึ่งมีปริมาณการเพาะปลูกในพื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเครื่องนี้สามารถอัดฟ่อนได้ถึง 60 ก้อน/ชั่วโมง สำหรับนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ย หรือทำเป็นเชื้อเพลิงพลังงานต่อไป

 2017 06 19 0142017 06 19 011

2017 06 19 013 2017 06 19 012

     ผู้อำนวยการ สส.สป. กล่าวอีกว่า  กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มอบเครื่องม้วนอัดก้อนชีวมวลมัดเชือกอัตโนมัติ เพื่อจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรจากเปลือกข้าวโพดครั้งนี้ ไม่ประสงค์จะให้เกษตรกรไปบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนเพิ่มเติมเพื่อทำการปลูกข้าวโพด แต่มอบให้เพื่อเกษตรกรสามารถกำจัดเศษเหลือทิ้งจากต้นข้าวโพดในพื้นที่เดิมได้รวดเร็วและสามารถปลูกข้าวโพดในพื้นที่เดิมได้โดยไม่ต้องเผาและไปรุกป่าสงวนเพิ่มเติม

2017 06 19 008 2017 06 19 009

2017 06 19 007 2017 06 18 003

    นายอรรถชา  กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า อำเภอแม่แจ่ม มีพื้นที่ทั้งหมด 1.692 ล้านไร่ มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถึง 1.1 แสนไร่ ซึ่งในแต่ละปีจะมีปริมาณต้น ตอ และใบ ประมาณ 60,000 ตัน ส่วนของเปลือกและซังข้าวโพดประมาณ 30,000 ตัน เศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเหล่านี้ ถ้าไม่มีการบริหารจัดการอย่างถูกวิธี จะนำไปสู่ปัญหาการเผาทำลาย และเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2560 จังหวัดเชียงใหม่ ได้กำหนดให้อำเภอแม่แจ่ม เป็นอำเภอต้นแบบด้านการบริหารจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่า ซึ่งทางอำเภอได้พยายามบูรณาการทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมในกระบวนการจัดการปัญหาในรูปแบบของ "แม่แจ่มโมเดล" โดยแบ่งออกเป็น 3 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการก่อนเกิดเหตุ (ป้องกัน) 2. มาตรการช่วง 60 วันอันตราย (รับมือ) และ 3. มาตรการหลัง 60 วันอันตราย (สร้างความยั่งยืน) ซึ่งเครื่องมือหรือเครื่องจักรที่สามารถจัดเก็บเปลือกข้าวโพดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน และง่ายต่อการนำไปใช้งานจริงในพื้นที่ ถือว่าเป็นมาตรการป้องกันที่นอกจากจะเป็นการลดต้นเหตุการเผาทำลายในพื้นที่เกษตรกรยังสามารถนำเปลือกข้าวโพดที่จัดเก็บไว้ ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ อาทิเช่น การนำมาทำเป็นอาหารหมักเพื่อเลี้ยงโค ทำให้ได้อาหารเลี้ยงโคที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ลดต้นทุน ลดระยะเวลาการเลี้ยง และทำให้ได้โคเนื้อที่มีคุณภาพ เป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ และในที่สุดจะสามารถลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดลงได้ ซึ่งถือเป็นอีกแนวทางในการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่

  2017 06 19 017 2017 06 18 004

     ด้านนายสุพจน์ ริจ่าม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยการประสานของศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค ภาคเหนือตอนบน (ศวภ.1) อำเภอแม่แจ่ม และเทศบาลตำบลท่าผา ได้ร่วมกันนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาร่วมแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่า ในด้านการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยยึดหลักการพัฒนาจากฐานราก นำกระบวนการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน จนเกิดเป็น "ท่าผาโมเดล" ซึ่งเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่เกิดจากความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยงานสนับสนุน ประกอบด้วย การพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ระดับตำบล ทั้งในด้านพื้นที่ป่า แหล่งน้ำ และการเกษตร ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) และเทศบาลตำบลท่าผา การนำเทคโนโลยีการหมักเปลือกข้าวโพด เพื่อนำมาเป็นอาหารหมักโค และมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ และโรงหมักสาธิตการผลิตอาหารหมักโค ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภาคเหนือ คลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยพะเยา และเทศบาลตำบลท่าผา ที่ผ่านมาโครงการต่างๆ ของ "ท่าผาโมเดล" มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐ และได้รับรางวัลด้านการพัฒนาต่างๆ ได้แก่ รางวัลชุมชนปลอดการเผา ของกรมส่งเสริมการเกษตร รางวัลผลงานดีเด่นในการป้องกันและแก้ไขหมอกควันและไฟป่า พ.ศ.2559 และรางวัลการตัดนิทรรศการยอดนวัตกรรมท้องถิ่น พ.ศ.2560
    นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า การพัฒนาเครื่องจักรประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้ในการจัดเก็บเปลือกข้าวโพด เป็นการดำเนินงานร่วมกันของสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และเทศบาลตำบลท่าผา โดยพิธีส่งมอบเครื่องม้วนอัดก้อนชีวมวลมัดเชือกอัตโนมัติ เพื่อจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร Biomass Baler Machine with Automatic bundle ในวันนี้ ถือเป็นแนวทางการพัฒนาเครื่องจักรประสิทธิภาพสูงที่เกิดจากการหารือแนวทางการพัฒนาเครื่องจักรร่วมกัน รวมถึงการบูรณาการทางด้านงบประมาณของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และเทศบาลตำบลท่าผา ทำให้ได้เครื่องจัดเก็บเปลือกข้าวโพดที่มีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาการจัดเก็บ ประหยัดพลังงาน การใช้งานและบำรุงรักษาที่ง่าย รวมถึงต้นทุนการผลิตเครื่องที่ไม่สูงจนเกินไป ทำให้มีโอกาสขยายผลไปสู่เกษตรกรพื้นที่อื่นๆ ที่ให้ความสนใจได้ง่ายขึ้น

 

2017 06 19 019 2017 06 19 020

วันที่กิจกรรม: 
Sun, 11/06/2017 - 17:00
ภาพประกอบ: 
ก.วิทยฯ ส่งมอบเครื่องม้วนอัดก้อนชีวมวลมัดเชือกอัตโนมัติ เพื่อช่วยลดปัญหาหมอกควันและไฟป่า พร้อมทั้งสร้างอาชีพเสริมให้เกษตรกร ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม