กระทรวงวิทย์ฯ ประกาศความสำเร็จ 5 เทคโนโลยีเครื่องจักรต้นแบบ ด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า

อ, 26/07/2016 - 16:36 — admin5

http://oldweb.most.go.th/main/index.php/organization-news/6783--5-.html

ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน ณ โถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

            เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 - ณ โถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และสมาคมเครื่องจักรกลไทย แถลงข่าว ความสำเร็จการพัฒนา 5 เทคโนโลยีเครื่องจักรกลต้นแบบ ภายใต้โครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ได้แก่ (1) การพัฒนาสร้างรถจ่ายอาหารสำหรับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สุกร (2) การพัฒนาสร้างระบบควบคุมการจ่ายน้ำดื่มสำหรับไก่เนื้อ (3) การพัฒนาสร้างเครื่องบรรจุแคปซูลกาแฟสด  (4) การพัฒนาสร้างอาคารที่จอดรถอัจฉริยะแบบจอดได้หลายคัน ชนิดขนย้ายและประกอบด้วยหน่วยแยก (สะดวก-ง่ายในการรื้อถอน ขนย้ายและติดตั้ง) และ (5) โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรกลเพื่อกระบวนการผลิตยางเตรียมพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬาและลานเอนกประสงค์ โดยมีนายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกียรติเป็นประธาน

 

นายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

 

            นายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ผลสำเร็จการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรต้นแบบในโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเห็นการผลักดันงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยของรัฐ และภาคเอกชน ในรูปแบบเกลียว 3 ประสาน หรือที่เรียกว่าโมเดล Triple Helix ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้กับนานาประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างนวัตกรรม และต้องอาศัยภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการภายในประเทศได้

 

            นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องจักรกลต้นแบบโดยคนไทยทั้ง 5 เครื่องที่นำมาแถลงข่าวในวันนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีแผนที่จะขยายผลออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ และจะผลักดันเข้าสู่บัญชีนวัตกรรม และระบบการประเมินความพร้อมใช้ของเทคโนโลยี Technology Readiness Levels เพื่อผลักดันผลงานวิจัยและพัฒนาให้สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยี และต่อยอดความรู้สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และสินค้าภาคอุตสาหกรรม นอกจาก โครงการวิศวกรรมสร้างสรรค์คุณค่าแล้ว สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีโครงการที่น่าสนใจอีกหลายโครงการที่พร้อมจะให้การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนไทย เช่น “โครงการพัฒนาเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์เพื่อการผลิตระดับชุมชน” “คูปองวิทย์เพื่อโอทอป”

 

            นอกจากนี้ยังได้มีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสำเร็จทั้ง 5 เทคโนโลยีดังนี้

1. “ความสำเร็จการพัฒนาสร้างรถจ่ายอาหารสำหรับสุกร”

 

 

 

             ในปัจจุบันเกษตรกรนิยมการเลี้ยงสุกรพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ไว้เพื่อผลิตลูกสุกรเพื่อส่งไปสู่ตลาดการเลี้ยงสุกรขุน   ซึ่งมีความต้องการเป็นจำนวนมาก ลูกสุกรที่ออกมานั้นจะต้องมีคุณภาพ และวิธีการควบคุมคุณภาพวิธีหนึ่งก็คือ การควบคุมคุณภาพและปริมาณอาหารที่พ่อ-แม่พันธุ์กินเข้าไปให้เหมาะสม และอาหารที่ให้ลูกสุกรในระยะหย่านมนั้นก็สำคัญเช่นกันซึ่งจะเป็นการให้อาหารในรูปแบบของอาหารเหลว หรือที่เรียกว่าอาหารแบบเจลนั่นเอง เพื่อประสิทธิภาพในการผลิตลูกสุกร ซึ่งการจ่ายอาหารให้แก่พ่อแม่พันธุ์จำนวนและลูกสุกรมากนั้น เป็นการยากที่จะมีความถูกต้องในการจ่ายให้แต่ละตัว และเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกร ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวคิดที่จะสร้างรถเข็นจ่ายอาหารให้กับสุกรพ่อ-แม่พันธุ์ และลูกสุกร โดยสามารถตั้งโปรแกรมการจ่ายให้กับสุกรแต่ละตัวตามลำดับโดยสัตวบาล สุกรแต่ละตัวก็จะได้รับอาหารตามที่ได้โปรแกรมเอาไว้ และมีรายงานเพื่อตรวจสอบได้อีกด้วย ซึ่งระบบนี้เหมาะกับเกษตรกรที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบจ่ายอาหารแบบอัตโนมัติ ที่ต้องมีการลงทุนสูงหลายล้านบาท

 

             ระบบการจ่ายอาหารสุกรแบบเหลวนี้เป็นวิธีที่สามารถต้นทุนค่าอาหารลงได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากใช้อาหารที่ไม่ต้องอัดเม็ดมาใช้งาน ซึ่งมีราคาถูกกว่าอาหารอัดเม็ด ส่วนวิธีการให้ก็ต้องผสมน้ำเหมือนกัน ดังนั้นการให้อาหารแบบเหลว จึงเป็นวิธีที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพมาก ซึ่งเป็นระบบที่นิยมใช้กันในต่างประเทศ แต่ระบบการจ่ายอัตโนมัติที่ใช้กันมีต้นทุนที่สูงมาก และไม่เหมาะกับประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองร้อนจะทำให้เกิดการบูดของอาหารได้ง่าย วิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ก็คือ การสร้างเครื่องมือการให้อาหารแบบเปียกที่เหมาะกับประเทศไทยขึ้นมา โดยการให้แบบกึ่งอัตโนมัติ คือ ระบบการตรวจสอบและผสมอาหารจะเป็นแบบอัตโนมัติ แต่เปลี่ยนระบบการจ่ายจากระบบท่อมาเป็นใช้แรงงานเข็นรถเข้าไปจ่าย

 

             ด้วยเหตุนี้ สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงให้การสนับสนุนสมาคมเครื่องจักรกลไทย ร่วมกับบริษัท อกรินโนเวท จำกัด ดำเนินการสร้างรถจ่ายอาหารสุกร ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการควบคุมอัตโนมัติ เพื่อนำมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมการผลิตสุกร ลดการใช้แรงงานภายในฟาร์ม ลดการปนเปื้อนและการติดเชื้อ รถจ่ายอาหารสำหรับสุกรได้รวมเอาเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาทำงานร่วมกัน ได้แก่ ระบบการชั่งอาหาร ,ระบบการผสมอาหาร ,ระบบการจ่ายอาหาร, ระบบการตรวจสอบการทำงานต่างๆ ซึ่งช่วยให้เกษตรกรภายในประเทศได้ใช้งานโดยไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ และสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกด้วย
 

             วิธีการให้อาหารเหลวในปัจจุบันของเกษตรกร จะใช้วิธีการผสมและจ่ายด้วยมืออยู่ ซึ่งอาจจะมีการปนเปื้อนติดเชื้อได้ หากเปลี่ยนวิธีการจ่ายอาหารมาเป็นรถผสม ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสอาหารได้และยังสามารถควบคุมปริมาณการจ่ายได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ การใช้งานเกษตรกรสามารถควบคุมปริมาณการผสมในแต่ละครั้งได้โดยจะมีตัวแสดงผลอยู่ที่แผงควบคุม และสามารถกำหนดปริมาณการจ่ายอาหารให้กับสุกรแต่ละตัวได้ โดยชุดควบคุมการจ่ายจะหยุดจ่ายอัตโนมัติเมื่อปริมาณอาหารได้ถูกจ่ายออกตามไปที่เกษตรกรปริมาณจ่ายเอาไว้  โดยมีราคาจำหน่ายรถจ่ายอาหารสุกร  190,000 บาท/คัน

2. “ความสำเร็จการพัฒนาสร้างระบบควบคุมการจ่ายน้ำดื่มสำหรับไก่เนื้อ”

 

 

             ในปัจจุบัน การเลี้ยงไก่เนื้อในโรงเรือนระบบปิด ระบบการให้น้ำเป็นระบบที่สำคัญมากระบบหนึ่ง และต้องใช้แรงงานในการดูแลเป็นอย่างดี เนื่องจากจะต้องให้มีน้ำอยู่ในระบบตลอดเวลา  หากน้ำขาดไปช่วงใดช่วงหนึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไก่ที่เลี้ยงได้ ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องการระบบที่จะมาช่วยบริหารจัดการ เพื่อความถูกต้องแม่นยำในการให้น้ำ และลดการใช้แรงงานคนเข้าไปในโรงเรือน ซึ่งจะทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคได้

 

             ระบบน้ำในโรงเรือนเลี้ยงไก่ระบบปิดนั้น จะจ่ายโดยระบบท่อ ฟาร์มมาตรฐานจะมีท่อจ่ายน้ำดื่มอยู่ 4 เส้น ความยาวเส้นละ 100 เมตร ซึ่งท่อน้ำดื่ม 1 เส้นจะรองรับจำนวนไก่ที่เข้ามากินน้ำได้ 4,000 ตัว ถ้าหากเกิดการขัดข้อง อุดตัน หรือขาดน้ำ โดยที่เกษตรกรไม่รู้ตัว จะก่อให้เกิดความเสียหายได้คือ ไก่ตาย เนื่องจากอาการขาดน้ำ ดังนั้นระบบการควบคุมการจ่ายน้ำนี้ จึงจำเป็นมากที่จะต้องติดตั้งเข้าไป เพื่อช่วยในการดูแลจัดการเกี่ยวกับระบบน้ำในฟาร์มเลี้ยงไก่ระบบปิด

 

             ด้วยเหตุนี้ สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงให้การสนับสนุนสมาคมเครื่องจักรกลไทย ร่วมกับบริษัท อกรินโนเวท จำกัด ดำเนินการสร้างระบบควบคุมการจ่ายน้ำดื่มสำหรับไก่เนื้อ ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการควบคุมอัตโนมัติ เพื่อนำมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมการผลิตไก่เนื้อ หรือไก่ไข่ได้ ลดการใช้แรงงานภายในฟาร์ม ลดการปนเปื้อนและการติดเชื้อ  การทำงานของระบบควบคุมการจ่ายน้ำดื่ม ตัวระบบเองสามารถทำงานได้อัตโนมัติตามค่าที่ตั้งไว้ โดยมีเซ็นเซอร์ตรวจสอบการขาดน้ำในท่อ หากมีการขาดน้ำเกิดขึ้น ตัวควบคุมจะสั่งการให้เติมน้ำเข้าไปในระบบให้เต็มอยู่ตลอดเวลา และยังมีระบบการล้างท่ออัตโนมัติตามเวลาที่ตั้งไว้ เพื่อล้างน้ำเก่าที่สะสมอยู่ในท่อป้องกันการสะสมเชื้อโรค และทำให้ไก่ได้ดื่มน้ำสะอาดได้ตลอดเวลา

 

             ในการติดตั้งระบบการควบคุมการจ่ายน้ำนี้ ในฟาร์มระบบปิดมาตรฐาน ซึ่งมีท่อจ่ายน้ำดื่มอยู่ 4 เส้น  จะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนอุปกรณ์   56,000 บาท/โรงเรือน (ไม่รวมระบบท่อและค่าแรงในการติดตั้ง)

 

 3. “ความสำเร็จการพัฒนาสร้างเครื่องบรรจุแคปซูลกาแฟสด”

 

 

             ปัจจุบันผู้บริโภคกาแฟสด นิยมการบริโภคกาแฟสดแบบแคปซูลมากขึ้น และเครื่องชงกาแฟสดแบบแคปซูลมีราคาถูกลงมาก ความนิยมจึงเพิ่มขึ้น แต่ตัวแคปซูลยังมีราคาที่สูงอยู่ เนื่องจากเป็นสินค้านำเข้า หากมีการผลิตขึ้นเองภายในประเทศก็จะสามารถลดต้นทุนลงได้มาก ทำให้ราคาจำหน่ายถูกลง ดังนั้นการสร้างเครื่องบรรจุแคปซูลกาแฟสด  เพื่อบรรจุเองภายในประเทศ จะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้  

เครื่องบรรจุแคปซูลกาแฟสดนี้ จะช่วยลดการนำเข้าแคปซูลกาแฟสด จากต่างประเทศ ช่วยให้คนไทยสามารถบริโภคกาแฟสด ที่ชงแบบแคปซูลได้ในราคาถูก   

 

             ด้วยเหตุนี้ สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงให้การสนับสนุนสมาคมเครื่องจักรกลไทย ร่วมกับบริษัท เจ.อาร์.แอล.สยาม จำกัด ดำเนินการสร้างเครื่องบรรจุแคปซูลกาแฟสด ซึ่งบริษัท เจ.อาร์.แอล.สยาม จำกัด เป็นบริษัทที่อยู่ในธุรกิจกาแฟสด และเป็นผู้ผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่ ใช้ในธุรกิจกาแฟสด ประยุกต์เอาเทคโนโลยี มาออกแบบและสร้างเครื่องบรรจุกาแฟสดแบบแคปซูลขึ้นมา เพื่อผลิตแคปซูลกาแฟสด ป้อนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ    

 

          ระบบการทำงานของเครื่องบรรจุผงกาแฟสดแบบแคปซูล จะแบ่งออกเป็นสถานีต่างๆ ได้แก่ สถานีป้อนแคปซูล, สถานีใส่ฟิลเตอร์, สถานีบรรจุผงกาแฟ, สถานีอัดผงกาแฟ และสถานีปิดผนึก แต่ละสถานีจะเรียงลำดับกัน แคปซูลกาแฟสดที่บรรจุด้วยเครื่องนี้ สามารถนำไปใช้กับเครื่องชงกาแฟแบบแคปซูลมาตรฐาน ที่ใช้แคปซูลแบบเดียวกันนี้ได้ทุกยี่ห้อ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคกาแฟสดที่ชงเองด้วยเครื่องแคปซูลสามารถดื่มกาแฟสดได้ในราคาที่ถูกลงมากกว่าแคปซูลที่นำเข้าจากต่างประเทศราคาจำหน่ายแคปซูล ราคาส่ง 10 บาท ราคาปลีก 18 บาท/50,000 แคปซูล และตัวเครื่องบรรจุแคปซูลจะมีมูลค่า 990,000 บาท/เครื่อง 

4. “ความสำเร็จการพัฒนาสร้างอาคารที่จอดรถอัจฉริยะแบบจอดได้หลายคัน

ชนิดขนย้ายและประกอบด้วยหน่วยแยก (สะดวก-ง่ายในการรื้อถอน ขนย้ายและติดตั้ง)”

 

 

             ปัจจุบันรถยนต์เป็นปัจจัยที่สำคัญของคนที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในเมือง หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยที่ห้าของคนในสังคมเมืองก็ว่าได้ ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการการคมนาคม  และแทบทุกครัวเรือนจะมีรถยนต์กันใช้กัน ในขณะเดียวกันสถานที่สำหรับจอดรถยนต์ดังกล่าว ก็มีอยู่น้อยและจำกัด เนื่องด้วยที่ดินในเมืองมีค่อนข้างสูง จัดหาได้ยากราคาแพง, ราคาค่าก่อสร้างก็มีราคาแพงและใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นเวลานาน จึงเป็นเหตุให้รถยนต์ต่าง ๆ ไปแย่งพื้นที่ผิวจราจรเพื่อจอดรถยนต์และเป็นต้นเหตุหนึ่งของการจราจรติดขัด ประชาชนบางส่วนหรือบางครอบครัวในสังคมคนเมือง อาจหาทางเลือกอื่นใช้การเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดโดยการขับรถยนต์ไปจอดในที่จอดรถยนต์และเดินทางต่อไปโดยใช้ระบบการขนส่งมวลชน (Park and Ride) เช่น รถไฟฟ้า BTS หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ในการเดินทาง แต่ก็ติดขัดในการหาสถานที่จอดรถยนต์ตามสถานีต่าง ๆ เป็นต้น แต่เดิมๆ ที ก็มีการก่อสร้างเป็นเครื่องจอดรถ แบบถาวร (คอนกรีตเสริมเหล็ก)
 

             ซึ่งต้องมีพื้นที่สำหรับช่องจอดของรถ, ทางรถวิ่งสวนกันได้ในแต่ละชั้น, ต้องมีชานลาดขึ้น-ลงระหว่างชั้น, และบันไดหรือลิฟท์โดยสารเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ขับขี่/ผู้โดยสาร และต่อมาก็มีการก่อสร้างเป็นเครื่องเหล็ก 2 ชั้นแบบประกอบ-ถอดรื้อถอน-ประกอบใหม่ได้ เพื่อความรวดเร็วและความคล่องตัวในการโยกย้าย ซึ่งทั้ง 2 แบบนี้ต้องใช้พื้นที่ในการจอดรถโดยเฉลี่ยประมาณ 40-50 ตร.ม /คัน ต่อมาก็มีการพัฒนาเป็นเครื่องจอดแบบเชิงกล 2ชั้น ซึ่งใช้พื้นที่ในการจอดรถโดยเฉลี่ยประมาณ 15-18 ตร.ม /คันเท่านั้น แต่ก็ไม่สะดวกในการจอดรถ  เพราะในกรณีมีรถจอดอยู่ชั้นล่างและมีความจำเป็นที่จะใช้ที่จอดชั้น 2เพื่อนำรถเข้า / ออก ต้องนำรถชั้นล่างออกก่อนทุกครั้ง ดังนั้น การพัฒนาสร้างอาคารที่จอดรถอัจฉริยะแบบจอดได้หลายคันชนิดขนย้ายและประกอบด้วยหน่วยแยก จะเป็นแนวทางในการรองรับปัญหาการจราจรในเมืองได้เป็นอย่างดี

 

          ด้วยเหตุนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงให้การสนับสนุน สมาคมเครื่องจักรกลไทย ร่วมกับ บริษัท คอนสโก เอ็นเตอร์ไพรเซล จำกัด ดำเนินการพัฒนาสร้างอาคารที่จอดรถอัจฉริยะแบบจอดได้หลายคัน ชนิดขนย้ายและประกอบด้วยหน่วยแยก (สะดวก-ง่ายในการรื้อถอน ขนย้ายและติดตั้ง) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทันสมัยควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ ลดการใช้แรงงาน และลดการเข้า มีสัญญาณเตือนการนำรถ เข้า-ออก ที่จอด ได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยด้วยระบบ Safety Lock สามารถบันทึกเวลาจอดของแต่ละคัน และควบคุมการใช้งานด้วย Card อีกทั้งยังสามารถรองรับขนาดรถยนต์ตามมาตรฐานที่มีใช้กันแพร่หลายในประเทศไทย เช่น รถปิคอัพ และรถตู้ ได้อีกด้วย 

 

             ประโยชน์ของการพัฒนาสร้างอาคารที่จอดรถ เพื่อเป็นการทดแทนการนำเข้า และเสริมสร้างเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความสามารถในด้านการแข่งขันให้กับผู้ผลิตในประเทศไทยในด้านการลดต้นทุนการผลิต และต่อยอดเทคโนโลยีควบคุมให้เป็นระบบ Industry 4.0 ในอนาคตได้ ช่วยให้ผู้ประกอบการ สถาบัน สถานที่ราชการ มีทางเลือกในการอำนวยความสะดวกให้กับพนังงานและลูกค้าตนเองได้ โดยอาคารที่จอดดังกล่าว จะจำหน่ายในราคา 24,000 บาท/คัน หากนำเข้าราคาจะอยู่ที่ 250,000 บาท/คัน หรือต่อโครงสร้างราคา 3,200,000 บาท/ชุด 

 

5. “ความสำเร็จการพัฒนาสร้างเครื่องจักรกลเพื่อกระบวนการผลิตยางเตรียมพื้นลู่-ลานกรีฑา

สนามกีฬาและลานเอนกประสงค์”

 

 

             ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยภาครัฐส่งเสริมให้มีการนำยางมาใช้ทำยางพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬาและลานเอนกประสงค์ ประมาณ 20.7 ล้านตารางเมตร ในปีงบประมาณ 2558–2560 (คิดเป็นปริมาณใช้ยางพาราดิบประมาณ 55,400 ตัน) ซึ่งการส่งเสริมให้มีการทำยางพื้นลู่-ลานกรีฑาปริมาณมากดังกล่าวจำเป็นต้องมีเครื่องจักรที่เหมาะสมใช้ในขั้นตอนการผลิตเม็ดยาง และในขั้นตอนการผสมยางพอลิยูรีเทนกับเม็ดยางที่ซึ่งขณะผสมมีความหนืดสูงมาก ซึ่งในอุตสาหกรรมยังขาดแคลนเครื่องจักรที่เหมาะสมและตรงกับการใช้งานมาใช้แทนเครื่องจักรที่มีอยู่ โดยเครื่องตัดยางที่มี จะมีปัญหาในการควบคุมคุณภาพของเม็ดยางที่ตัดให้มีรูปทรงและขนาดที่สม่ำเสมอเท่าๆ กันไม่ได้ตามต้องการ และยังเกิดปัญหาเรื่องรูตะแกรงตันง่ายเสียเวลาซ่อมบำรุงบ่อย ใช้เวลาในการตัดนานกว่าที่ควรจะเป็นเพราะออกแบบวิธีการตัดไม่เหมาะสม ขณะตัดเกิดความหนืดสูงมากกินแรงมอเตอร์และเปลืองค่าไฟมาก ขณะที่เมื่อนำเม็ดยางดังกล่าวไปใช้สร้างพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานเอนกประสงค์ ก็จะเกิดปัญหาตามมา เช่น กรณีที่รูปทรงของเม็ดยางที่ตัดออกมาเป็นทรงยาว ก็จะทำให้เกิดการขวางทางของการกระจายตัวของเม็ดยางก้อนอื่นๆ ทำให้การกระจายตัวของเม็ดยางโดยรวมไม่ดี

 

             นอกจากนี้ยังมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าเพราะฉีกขาดและหลุดลอกออกไปได้ง่ายกว่าการใช้เม็ดยางที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกเต๋าที่มีขนาดสม่ำเสมอกัน ส่วนเครื่องกวนผสมที่มีก็ยังไม่เหมาะสมใช้กับงานผสมยางพอลิยูรีเทนที่มีความหนืดสูงมาก การผสมคลุกเคล้ายางทำได้ยาก เทยางออกจากถังได้ยาก ไหลออกไม่หมดเหลือเกาะติดกับผนังถังและทำความสะอาดได้ค่อนข้างยาก การนำมาประยุกต์ใช้จะเกิดปัญหาติดตามมา โดยหากใช้ถังผสมเคมีชนิดใช้ใบกวน ด้วยความหนืดที่สูงมากของยางพอลิยูรีเทน จำเป็นต้องใช้ต้นกำลัง/มอเตอร์ขนาดใหญ่มากจึงจะกวนยางให้ไหลผสมเข้ากันได้ดี ขณะที่ถังผสมคอนกรีตที่มีใบกวนติดอยู่ที่ผนังถัง แม้ว่าจะไม่จำเป็นต้องใช้ต้นกำลัง/มอเตอร์ที่ใหญ่เหมือนชนิดใบกวน แต่จะมีปัญหาเรื่องการเทยางออกจากถังเช่นเดียวกับถังผสมเคมีชนิดใช้ใบกวน 

 

             ด้วยเหตุนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงให้การสนับสนุนสมาคมเครื่องจักรกลไทย ร่วมกับ บริษัท ไทยเซ็นทรัลเมคคานิคส์ จำกัด คิดค้นประดิษฐ์สร้างนวัตกรรมต้นแบบขึ้นช่วยแก้ปัญหา โดยเครื่องตัดยางมีการพัฒนาปรับปรุงออกแบบคุณภาพการตัดให้สามารถตัดแผ่นยางขนาดหนาประมาณ 3.5 มม. x กว้าง 300 มม. ให้เป็นเม็ดยางรูปทรงลูกเต๋าขนาด 3-4 ลูกบาศก์มิลลิเมตรอย่างสม่ำเสมอ ชิ้นวัสดุที่ได้ไม่เป็นฝุ่นผงยาง มีอัตราการผลิตเม็ดยางที่ 200 กก./ชม. ไม่ใช้ตะแกรง ไม่อุดตัน ไม่ต้องหยุดซ่อมบำรุงบ่อย ประหยัดพลังงานไฟฟ้า และลดอัตราสิ้นเปลืองใบมีดตัด ส่วนเครื่องผสมยางมีการพัฒนาปรับปรุงโดยออกแบบให้ผิวผนังถังเกลี้ยงเรียบลื่นเพื่อป้องกันยางที่ผสมเกาะติดกับผนัง มีใบกวนและปาดชนิดติดตั้งอยู่กับที่ปรับตั้งมุมองศาได้ และแยกออกต่างหากจากผนังถัง ผนวกกับการออกแบบให้ถังสามารถหมุนเดินหน้าและถอยหลังได้

 

             ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกวนผสมยางพอลิยูลิเทน ให้คลุกเคล้ากับเม็ดยางได้ดี มีการกระจายตัวไปทั่วๆ โดยในที่ขณะถังหมุนเดินหน้าจะปรับให้ทำหน้าที่เป็นใบกวนผสมยาง แต่หากถังหมุนเดินถอยหลังก็จะปรับให้ทำหน้าที่เป็นใบกวาดยาง กวาดเอายางที่ผสมแล้วออกจากถังได้อย่างหมดจด เหลือติดถังและใบกวาดน้อย ใบกวนและปาดมีความแข็งแรงทนทาน ทำความสะอาดง่าย และออกแบบให้ประหยัดพลังงาน มีกำลังการผลิตที่อัตรา 120 กก./แบ็ทซ์/ 20 นาที โดยมีราคาจำหน่ายเครื่องผสมยางอยู่ที่  365,000 บาท  และเครื่องตัดยางราคาอยู่ที่ = 365,000 บาท ส่วนการนำเข้ายังไม่มี เนื่องจากเป็นนวัตกรรมใหม่ ยังไม่มีคู่แข่ง

 
วันที่กิจกรรม: 
Fri, 22/07/2016 - 17:00
ภาพประกอบ: 
กระทรวงวิทย์ฯ ประกาศความสำเร็จ 5 เทคโนโลยีเครื่องจักรต้นแบบ ด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า