กระทรวงวิทย์ฯ ประกาศความสำเร็จ พัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรต้นแบบ 4 ชิ้น ฝีมือคนไทย ภายใต้ความร่วมมือ 3 ประสาน รัฐร่วมเอกชนและมหาวิทยาลัย
26 มิถุนายน 2558 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี / ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สมาคมเครื่องจักรกลไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงผลสำเร็จการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรต้นแบบในโครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า 4 ชิ้น ตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเห็นการผลักดันงานงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยของรัฐ และภาคเอกชน ในรูปแบบเกลียว 3 ประสาน หรือที่เรียกว่าโมเดล Triple Helix
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้กับนานาประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างนวัตกรรม รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนประสบความสำเร็จในการสร้างสรรคเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ประเทศต่างได้ โดยตัวอย่างของความสำเร็จในวันนี้คือเทคโนโลยีเครื่องจักรกลต้นแบบที่พัฒนาโดยคนไทยทั้ง 4 ชิ้น ได้แก่ ผลงานชิ้นแรกเป็น ชุดเครื่องจักรระบบล้างและปรับปรุงคุณภาพขยะพลาสติกสำหรับการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นผลงานที่ร่วมทุนวิจัยและพัฒนากับบริษัท วิศวกรรมบริการบำรุงรักษา จำกัด ในการพัฒนาชุดเครื่องจักรสำหรับการล้างขยะพลาสติกจากหลุมฝังกลบ และชุดเครื่องจักรสำหรับการปรับปรุงคุณภาพขยะพลาสติก ซึ่งสามารถล้างขยะพลาสติกและปั่นแห้งพลาสติกในเครื่องเดียวกัน มีกำลังการผลิต 3-5 ตัน/วัน ซึ่งหากนำเข้าจะมีราคาประมาณ 12-15 ล้านบาท แต่ผลงานที่พัฒนาโดยคนไทยนี้จะตั้งขายด้วยราคาเพียง 5 - 8 ล้านบาท
ผลงานชิ้นที่ 2 เป็นการพัฒนามาตรฐานการปศุสัตว์ของไทยโดยความร่วมมือกับ บริษัทอกรินโนเวท จำกัด ในการพัฒนาระบบติดตามการเจริญเติบโตและระบบจ่ายวัคซีนในโรงเรือนระบบอัตโนมัติ สำหรับอุตสาหกรรมผลิตไก่เนื้อ สามารถเลือกบันทึกค่าอัตราการจ่ายอาหารเทียบกับน้ำหนักไก่ที่ได้เพื่อเก็บข้อมูลประสิทธิภาพการให้อาหารไก่ตลอดระยะเวลาการเพาะเลี้ยงเนื้อไก่ สามารถลดต้นทุนการนำเข้าได้มากกว่าสองเท่าต่อโรงเรือน ผลงานชิ้นที่ 3 เป็นของบริษัทอกรินโนเวท จำกัด อีกเช่นกัน เป็นเครื่องจ่ายวัคซีนที่สามารถให้วัคซีนแก่การเลี้ยงไก่ถึง 22 ล้านตัว/สัปดาห์ สามารถจัดจำหน่ายได้ในราคา 14,500 บาท/โรงเรือน เทียบกับราคานำเข้าที่ประมาณ 34,000 บาท/โรงเรือน และผลงานชิ้นสุดท้ายเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท คอนสโก เอ็นเตอร์ไพรเซส จำกัด คือ ระบบลิฟท์โดยสารก่อสร้างขนาดใหญ่บรรทุกน้ำหนักได้ 2 ตัน ประหยัดการนำเข้าได้ 2 ล้านบาทต่อชุดสำหรับ โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่านั้น เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ทำให้ลดการวิจัยพัฒนาแบบลองผิดลองถูก เป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนแบบครึ่งต่อครึ่ง ที่ผ่านมามีการร่วมทุนมากกว่า 640 ล้านบาท สนับสนุนโครงการมากถึง 125 โครงการ และก่อให้เกิดมูลค่าต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมถึง 3 - 4 เท่าของการลงทุน หรือประมาณการเป็นมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านบาท โดยมีผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโครงการมากกว่า 3,500 คน แล้ว