ก.วิทย์ฯ ถ่ายทอดเทคโนโลยียางพารา เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และศักยภาพการแข่งขัน
จากวิกฤติยางพารา ที่มีจำนวนผลผลิตล้นตลาดและราคายางพาราที่ตกต่ำ ทำให้ผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับไม่คุ้มค่า และผู้ประกอบการยังขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการแปรรูปยางพาราเป็นสินค้าขั้นต้นและสินค้าขั้นกลางสำหรับจำหน่ายในตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้สูงขึ้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี เล็งเห็นความสำคัญของปัญหายางพาราที่เกิดขึ้น จึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การถ่ายทอดเทคโนโลยียางพารา” ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้น ระหว่างวันที่ 11 - 12 มิถุนายน 2558 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา สุราษฎร์ธานี เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านยางพาราที่สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยางพารา โดยมี นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานในพิธีเปิดฯ
นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคายางในตลาดโลกมีความผันผวนตามกลไกตลาด อุปสงค์และอุปทาน และจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยราคายางเริ่มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จากสถานการณ์ดังกล่าว ประเทศไทยจึงต้องพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปยาง และผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติ และนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีคุณภาพเพื่อเพิ่มการใช้ยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไทยให้มากขึ้น ซึ่งการวิจัยและพัฒนาจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ปลูกยางพารามากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ มีพื้นที่ยางอายุมากกว่า 6 ปี กว่า 1.7 ล้านไร่ ยางพาราจึงเป็นพืชที่สำคัญต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาช้านาน วันนี้นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะมีโอกาสได้รับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับยางพารา ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ การแปรรูปยางพารา และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากยางพารา ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ การแปรรูปยางพารา และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากยางพารา หรือผลิตภัณฑ์ที่มียางพาราเป็นองค์ประกอบ เพื่อการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มการใช้ยางพาราในผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่จะสามารถรองรับสถานการณ์ยางพาราในปัจจุบัน พร้อมกับเพิ่มโอกาสในการแข่งขันได้ในอนาคตต่อไป
นายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า จากวิกฤติยางพาราที่มีจำนวนผลผลิตล้นตลาดและราคายางพาราที่ตกต่ำ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายหน่วยงาน จึงแปลงปัญหาดังกล่าวให้เป็นโจทย์ทางด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในการพัฒนากระบวนการผลิต สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยางตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ การแปรรูปยางพาราวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ปลายน้ำหรือผลิตภัณฑ์จากยางรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พร้อมสำหรับการถ่ายทอดให้กับเกษตรกร องค์กรชาวสวนยาง และกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดและโอกาสในทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้ภาวการณ์ยางพาราตกต่ำ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุดในประเทศไทย จึงได้รับผลกระทบเป็นอันมากและในอีกมุมหนึ่งก็เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการเปิดรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการปรับปรุงกระบวนการผลิต ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี เล็งเห็นความสำคัญของปัญหายางพาราที่เกิดขึ้น จึงกำหนดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การถ่ายทอดเทคโนโลยียางพารา” ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้น
วัตถุประสงค์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านยางพาราที่สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยางพารา มีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย เกษตรกรผู้ปลูกยาง ผู้รับจ้างกรีดยางพารา ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน ที่สนใจจะแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จำนวน 250 คน ภายในงานมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การถ่ายทอดเทคโนโลยียางพารา” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้ แนวทางการแปรรูปยางธรรมชาติ เพื่อนำไปสร้างพื้นลู่ - ลานกรีฑา พื้นลานอเนกประสงค์ , ถนนยางพารา , สร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพารา: ถุงมือผ้าเคลือบยาง , การรักษาสภาพน้ำยางธรรมชาติไร้แอมโมเนีย (TAPS) และการจัดการน้ำยางสกิมและของเสียจากกระบวนการผลิต (GRASS) , การพัฒนาต้นแบบยางธรรมชาติแดมปิ้งสูง และแผ่นยางกันกระแทก , สารสกัดจากน้ำยางพาราเพื่อใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง Whitening Cream/เซรั่มบำรุงผิว
ซึ่งคาดว่า ผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ การแปรรูปยางพาราวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ปลายน้ำหรือผลิตภัณฑ์จากยางรูปแบบใหม่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ ตลอดจนเกิดการบูรณาการงานด้าน วทน. ของหน่วยงานในสังกัด วท. และหน่วยงานในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและพื้นที่ใกล้เคียง
นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านยางพาราเพื่อคนไทย” เผยแพร่องค์ความรู้และแสดงผลงานเทคโนโลยียางพาราของหน่วยงานภายในสังกัด และหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำนิทรรศการระบบการรักษาสภาพน้ำยางธรรมชาติไร้แอมโมเนีย TAPS สารช่วยประสิทธิภาพการจับตัวน้ำยางสกิม GRASS 0 สารรวบรวมเนื้อยางจากยางสกิม GRASS 1 สารจับตัวน้ำล้างเครื่องน้ำยางประสิทธิภาพสูง GRASS 2 นวัตกรรมกระบวนการแยกเนื้อยางและสารอนินทรีย์ออกจากกากตะกอนน้ำยางธรรมชาติ (ขี้แป้ง) และการพัฒนาต้นแบบยางธรรมชาติแดมปิ้งสูง กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) นิทรรศการการสร้างพื้นลู่ลานกรีฑา ลานอเนกประสงค์ด้วยยางธรรมชาติ การทำผลิตภัณฑ์บล็อกยางปูพื้นและยางขวางถนนจำกัดความรู้ด้วยยางธรรมชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นิทรรศการการวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์จากยาง ถุงมือผ้าเคลือบยางธรรมชาติชนิดหนา ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสำหรับสวนยาง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) นิทรรศการโปรแกรมนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมยางพารา "นวัตกรรมยางพารา" เป็นการพัฒนาร่วมรังสรรค์โครงการนวัตกรรมยางพารา ทั้งในผลิตภัณฑ์และกระบวนการตั้งแต่ส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมยางพาราที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) นิทรรศการด้านเครื่องสำอางจากน้ำยางพารา
นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในภูมิภาคนำนิทรรศการและผลงานวิจัยมาจัดแสดงร่วมด้วย อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช นำนิทรรศการ การผลิตถุงมือยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ยางผสมขี้เลื่อยไม้ยางพารา ไม้กวาดน้ำยางพารา พวงกุญแจน้ำยางพารา และดอกไม้ยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา นำนิทรรศการผลงานวิจัยจากยางพารามาแสดง ได้แก่ ยางรองส้นเท้าเพื่อลดความดันในส้นเท้าจากยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ยางฟองน้ำจากยางพารา บล็กยางปูพื้นยางพารา ยางปูสระเก็บกักน้ำจากยางพาราเสริมแรงด้วยผ้าใบ ยางปูพื้นสนามฟุตซอล หมอนยางพารา แผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี นำผลิตภัณฑ์จากยางพาราหลากหลายชนิดมาแสดงอาทิ กระเบื้องหลังคายางพารา ชิ้นส่วนยานยนต์ ของเล่นเด็ก หนังเทียมจากยางพารา และผลิตภัณฑ์ถุงมือผ้าเคลือบยาง กลุ่มชาวสวนยางบ้านในสวน 2556 อ.เวียงสระ จ.สุราษฏร์ธานี
linkข่าว สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี
linkข่าว Thin Siam Dot Com