เครื่องจักรเก็บเกี่ยวลำไย
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย นางนิตยา พัฒนรัชต์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าวความสำเร็จการพัฒนาชุดเครื่อง จักรเก็บเกี่ยวลำไย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ณ สวนลำไยกลุ่มผู้ผลิตลำไยคุณภาพ หมู่ 8 ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาชุดเครื่องจักรเก็บเกี่ยวลำไยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไยในการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย เนื่องจากการเก็บเกี่ยวลำไยส่วนใหญ่ใช้แรงงานคน และต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการเก็บเกี่ยว ซึ่งเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวลำไย ซึ่งจะมีผลผลิตออกมาจำนวนมากในทุกๆสวนทำให้ขาดแคลนแรงงานที่มีความชำนาญในการเก็บเกี่ยว โดยชุดเครื่องจักรเก็บเกี่ยวลำไยที่พัฒนา ขึ้นจะช่วยลดจำนวนคนงาน ลดปัญหาความล่าช้าในการเก็บเกี่ยว และลดอันตรายจากการพลัดตกต้นลำไย อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรชาวสวนลำไยในการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่รวดเร็ว จึงคงความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ได้ดีอีกด้วย
ทั้งนี้ รศ.ดร.ธัญญะ เกียรติวัฒน์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดเผยรายละเอียดรายละเอียดของชุดเครื่องจักรเก็บเกี่ยวลำไย ที่พัฒนาขึ้นจำนวน 2 รูปแบบ ว่า
รูปแบบแขนกลเก็บผลไม้ ใช้ติดบนรถกระบะของเกษตรกรเพื่อเก็บเกี่ยวลำไยในสวน ซึ่งออกแบบเพื่อเพิ่มความสะดวก และความปลอดภัยในการเก็บเกี่ยวผลไม้ โดยผู้ใช้งานสามารถควบคุมการทำงานของแขนกลได้ด้วยแผงควบคุมที่ติดอยู่ที่ตัวของผู้ใช้งานทำให้ผู้ใช้งานเคลื่อนตัวในการดูผลไม้ที่ต้องการตัดได้อย่างสะดวก หรือสามารถดูภาพของผลไม้ได้จากจอภาพที่ส่งมาจากกล้องที่ติดอยู่ที่ส่วนปลายของแขนกลได้ การตัดผลไม้สามารถตัดได้ด้วยกรรไกรและสามารถหนีบกิ่งของผลไม้ที่ตัดได้ทันที เพื่อไม่ให้ผลไม้หล่นลงสู่พื้นและนำผลไม้ที่ตัดลงมาใส่ในตะกร้าที่ติดอยู่ที่ปลายแขนกล และจากการผลทดสอบการเก็บเกี่ยวลำไย แขนกลต้นแบบนี้สามารถเก็บลำไยหนึ่งตะกร้า มีน้ำหนักของลำไยประมาณ 5 กิโลกรัม ใช้เวลาประมาณ 7 นาที ในระยะเวลา 1 ชั่วโมงสามารถเก็บลำไยได้ประมาณ 40-50 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับปริมาณลำไยในแต่ละต้น
รูปแบบรถกระเช้าเก็บผลไม้ รถกระเช้าสามล้อขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 18 แรงม้า สามารถบังคับเลี้ยวได้ที่ล้อหน้า มีขาค้ำยัน 4 ขา สามารถปรับระดับของแต่ละขาได้อิสระด้วยระบบไฮดรอลิกส์ กระเช้าสามารถเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งต่างๆได้โดยสามารถควบคุมการทำงานได้สองแบบคือ การควบคุมด้วยคันโยกบริเวณตัวรถ และ การควบคุมด้วยแผงควบคุมไฟฟ้าที่อยู่บนกระเช้า โดยสามารถเคลื่อนที่เข้าไปในสวนที่มีช่องทางแคบได้ประมาณ 1.5 เมตร และสามารถเคลื่อนที่ได้บนทางราบ รถกระเช้าจะมีตะขอติดอยู่ที่ส่วนปลายของแขนกลเพื่อใช้ในกรณีการลากจูงขึ้นทางชันหรือติดหล่ม ตะขอนี้ยังสามารถใช้ในการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักไม่เกิน 100 กิโลกรัม ในขณะที่ไม่มีคนอยู่ในกระเช้า แขนกลสามารถยืดออกไปได้สูงจากพื้นมากที่สุดประมาณ 7 เมตร
ทั้งนี้ได้ทำการสาธิตการเก็บเกี่ยวลำไยในสวนลำไยจริง ซึ่งมีผู้แทนเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ และเกษตรอำเภอสารภี พร้อมด้วยเกษตรกรชาวสวนลำไย เข้าร่วมชมการสาธิตและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก