เครื่องจับฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิตสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลระบบก๊าซซิฟิเคชั่น ขนาด 1.0 เมกะวัตต์
โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจับฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิตสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลระบบก๊าซซิฟิเคชั่น ขนาด 1.0 MW
ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
หัวหน้าโครงการ นายชวลิต รุ่งอิทธิวงศ์
บริษัทที่ร่วมโครงการ บริษัท เบสท์คูปเปอร์ จำกัด
เทคโนโลยีหลัก (Core Technology)
เป็นเครื่องกำจัดฝุ่นและยางไม้(Tar) Electrostatic Precipitator แบบ Tubular จากกระบวนการผลิต ก๊าซสังเคราะห์ (Synthesis Gas) จากชีวมวลด้วยระบบ Gasification สำหรับใช้กับโรงไฟฟ้าขนาด 1.0 MW ทำการกำจัดหรือจับฝุ่นละอองขนาดเล็กและน้ำมันดินจากยางไม้(Tar) ที่มีขนาดเล็กมากต่ำกว่า 10 ไมโครเมตร ไม่ให้เจือปนไปกับก๊าซหรือควัน เพื่อให้ได้ก๊าซเชื้อเพลิงหรือไอเสียที่สะอาดปราศจากสิ่งเจือปน ก่อนนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือปล่อยไอเสียออกสู่บรรยากาศ
ขนาด: Synthesis Gas Clean flow rate 4,500 – 5,500 m3/h
ประสิทธิภาพ: บำบัด Synthesis Gas ให้มี ยางไม้ tar <100 mg/m3 และ Dust < 60 mg/m3
ภาพที่ 1.1แสดง Electrostatic Precipitator
ที่มา: ข้อเสนอโครงการพัฒนาสร้างเครื่องจับฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิตสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลระบบก๊าซซิฟิเคชั่น ขนาด 1.0 MW
(มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ)
หลักการทำงานของ ESP มี 3 ขั้นตอน คือ
- การใส่ประจุไฟฟ้าให้กับอนุภาคฝุ่นละออง
- การเก็บอนุภาคฝุ่นละอองที่มีประจุโดยใช้แรงไฟฟ้าสถิตจากสนามไฟฟ้า
- การแยกอนุภาคฝุ่นละอองออกจากขั้วเก็บไปยังถังเก็บพัก
เครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (ESP) ในโครงการฯ ได้ออกแบบให้มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นตั้งแต่ 99.6% ขึ้นไป โดยส่วนประกอบหลักของ ESP ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่
- ขั้วปล่อยประจุ (Discharge Electrode) มีลักษณะเป็นเส้นลวดกลม เรียงเป็นแนวตรง ขึงพาดระหว่างโครงเหล็กและปล่อยแรงดันไฟฟ้าสูง (High Voltage) ให้แก่ขั้วปล่อยประจุ เพื่อให้อากาศที่อยู่รอบเส้นลวดเกิดการแตกตัวเป็นโคโรนา และอิออนของก๊าซที่เกิดการแตกตัวและมีประจุลบจะชนกับอนุภาคและทำให้อนุภาคมีประจุลบ ระบบจ่ายแรงดันไฟฟ้าสูง (TR set) จะประกอบด้วยหม้อแปลง (Transformer) และตัวแปลงไฟฟ้ากระแสสลับเป็นกระแสตรง (Rectifier) โดยจะทำการแปลงไฟฟ้าจากแรงดัน 400 โวลต์ ให้ไม่น้อยกว่า 75,000 โวลต์ และเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสสลับเป็นกระแสตรง เพื่อจ่ายให้กับขั้วปล่อยประจุ
- ขั้วดักจับอนุภาค (Collection Electrode) มีลักษณะเป็นแผ่น (Plate) เพื่อให้สามารถรับปริมาณก๊าซได้มาก และได้ประสิทธิภาพสูงในการกักเก็บฝุ่น
- ถังพัก (Hopper) ออกแบบให้มีความชันค่อนข้างมากเพื่อให้ฝุ่นไหลลงไปที่วาล์วระบายด้านล่าง ก่อนที่จะถูกดึงออกไปด้วย Screw conveyor
- เครื่องเคาะแยกฝุ่น (Rapper) ใช้สำหรับเคาะเอาฝุ่นออกจากแผ่นเก็บ (Collection Electrode) โดยจะทำการติดตั้งที่บริเวณหลังคาของเครื่อง ESP