เครื่องอบกระเทียมดำประหยัดพลังงานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน(RID64)

ศ, 09/04/2021 - 10:47 — bunsita
รายละเอียด: 

        จากการศึกษาข้อมูลการเพาะปลูกกระเทียมในพื้นที่จังหวัดลำปาง กระเทียม พื้นที่เพาะปลูก จำนวน 5,497 ไร่  ส่วนใหญ่อยู่ใน อำเภองาว อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอวังเหนือ ผลผลิต จำนวน 7,933 ตัน ผลผลิตต่อไร่ จำนวน  954 กก. เกษตรกรส่วนใหญ่จะเพาะปลูกหลังเก็บเกี่ยวข้าว  โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากประมาณเดือนมีนาคม ของทุกปี (ที่มา : สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2563)  ราคากระเทียมจีนเบอร์ใหญ่ 40-46 บาท/กิโลกรัม , กระเทียมไทยเบอร์ใหญ่ 55-58 บาท/กิโลกรัม , กระเทียมโทน  90-100 บาท/กิโลกรัม  

     จากการศึกษาตลาดในปัจจุบันพบว่ากระเทียมจากประเทศจีนมาตีตลาดขายในไทยเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นกระเทียมขนาดใหญ่เปลือกแกะง่ายและราคาถูกกว่ากระเทียมไทย ทำให้กระเทียมไทยก็เริ่มหมดความสำคัญจากท้องตลาดไปเรื่อยๆ ส่งผลให้ราคากระเทียมไทยตกต่ำลง ในขณะนั้นเกษตรกรไทยได้รับความเดือดร้อนและลำบาก  จากปัญหาดังกล่าวจึงได้มีกลุ่มบริษัท และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้มีการแปรรูปกระเทียมไทย ให้เป็นกระเทียมดำ (Black Garlic) เพื่อเป็นอาหารสุขภาพ ที่เปลี่ยนจากกระเทียมสดให้กลายเป็นกระเทียมดำ เพื่อให้ทานง่ายและ เพิ่มคุณมากยิ่งขึ้นซี่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดคลอเรสเตอรอล และป้องกันมะเร็ง บำรุงสมอง และป้องกันโรคความผิด ปกติของระบบประสาท ซึ่งสรรพคุณของกระเทียมดำนั้นดีกว่ากระเทียมสด ถึง 13 เท่า  ตลอดจนถึงการแปรรูปเป็นกระเทียมดำจะช่วยยกระดับราคากระเทียม ซึ่งเป็นสินค้าการเกษตรให้สูงขึ้น 6-8 เท่า ส่งผลทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการจำหน่ายสินค้าการเกษตร สามารถมีรายได้ที่ดีขึ้น

      จากการศึกษาขั้นตอนการทำกระเทียมดำของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักและวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารจากสัตว์ แคบหมู แหนม หมู่ 8 ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง พบว่าการแปรรูปกระเทียมดำยังใช้หม้อหุงข้าว โดยใช้อบกระเทียมได้ครั้งละ 2-3 กิโลกรัม เสียค่าไฟฟ้าครั้งละประมาณ 70-80 บาท สามารถผลิตกระเทียมดำ 3-5 กิโลกรัม/เดือน โดยจัดจำหน่ายภายในจังหวัดลำปางและส่งร้านค้าในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งปริมาณการผลิตได้เป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการของร้านค้าและผู้บริโภค  ดังนั้นหากต้องการผลิตกระเทียมดำปริมาณที่มากจะต้องซื้อหม้อหุงข้าวหลายใบ ใช้พื้นที่มากขึ้น มีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากต้องทำการพลิกกลับกระเทียมหลายครั้ง ต้องซื้ออุปกรณ์อื่นๆเพิ่มขึ้น เช่น ปลั๊กไฟฟ้า สายพ่วงฯ มีค่าไฟฟ้ามากขึ้น ส่งผลให้มีค่าต้นทุนมากขึ้น หากจะซื้อเครื่องอบกระเทียมขนาดใหญ่ที่ผลิตได้ 30 กิโลกรัมขึ้นไปก็มีราคาแพง ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ การบริการด้านการซ่อมบำรุงก็จะลำบาก อีกทั้งวิสาหกิจชุมชนไม่มีงบประมาณเพียงพอ  จากปัญหาดังกล่าวจึงมีแนวคิดในการสร้างเครื่องอบกระเทียมดำประหยัดพลังงานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ที่เกษตรกรใช้งานได้ง่ายเบ็ดเสร็จเพียงกดสวิตซ์ สามารถผลิตกระเทียมดำได้ครั้งละ 30-45 กิโลกรัม กำลังผลิต 70-90 กิโลกรัม/เดือน ประหยัดพลังงานโดยเสียค่าไฟฟ้าครั้งละ 150-200 บาท มีระบบควบคุมเครื่องฯที่มีประสิทธิภาพ สามารถแสดงข้อมูลต่างๆเป็นตัวเลขได้ มีความปลอดภัยในการใช้งาน วิสาหกิจชุมชนสามารถประยุกต์ใช้งานเครื่องอบกระเทียมดำฯได้กับการแปรรูปอาหารอื่นๆได้ สร้างรายได้ประมาณ 30,000-50,000 บาท/เดือน สามารถยกระดับเศรฐกิจในครัวเรือน เศรษฐกิจในชุมชนได้อีกด้วย

 

งบปี พ.ศ.: 
2564
ภาพประกอบ: 
เครื่องอบกระเทียมดำประหยัดพลังงานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน(RID64)
    แคตตาล็อกเทคโนโลยี
    ระดับ: 
    ต้นแบบเชิงพาณิชย์ / อุตสาหกรรม
    กลุ่มเป้าหมาย: 
    วิสาหกิจชุมชน
    ภาพหน้าปก: