กระทรวงวิทย์ฯ ประกาศความสำเร็จ พัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรต้นแบบ 5 เครื่อง ภายใต้โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า

จ, 24/09/2018 - 10:37 — admin5

4

          เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงข่าวความสำเร็จการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบ 5 เครื่อง การสนับสนุนงบประมาณภายใต้ โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยมีศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นหน่วยงานบริหารจัดการโครงการ ร่วมกับ สมาคมเครื่องจักรกลไทย และสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท เซ็นเซอร์นิกส์ จำกัด/ บริษัท อาร์ แอล ซี อินโนเวชั่จำกัด/ บริษัท โซล่าเพาเวอร์เทคโนโลยี จำกัด และ บริษัท อกรินโนเวท จำกัด ในการพัฒนาสร้างเครื่องมือ เครื่องจักรกลที่สามารถช่วยในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน รวมถึงเครื่องมืออำนวยความสะดวกรองรับความต้องการของผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการแถลงข่าว

10

12 8

          รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม เปิดเผยถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า ความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับสมาคมเครื่องจักรกลไทยนั้น มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาสร้างเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้หลักการ “วิศวกรรมย้อนรอย” เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินภายในประเทศ และลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

          “จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรกลอัตโนมัติจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น SME ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ต่างต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตของตนเอง โดยนำเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาใช้ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อีกหนึ่งปัญหาที่เรากำลังเผชิญ คือ Ageing Society ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้การวิจัยพัฒนาสร้างเครื่องมือ เครื่องใช้ภายในบ้านเรือน เพื่อรองรับผู้สูงอายุจึงมีความจำเป็นเพิ่มมากขึ้น” รศ.นพ.สรนิต กล่าว.....

          การพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า” โดยเน้นพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบที่มีการใช้เทคโนโลยี เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลก้าวสู่ Thailand 4.0 เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เครื่องจักรกลต้นแบบที่นำมาแถลงข่าวในครั้งนี้ ถือเป็นผลงานที่มีสมรรถนะและคุณลักษณะที่โดดเด่นแตกต่างกัน ได้แก่

 1

          (1) กลไกกายภาพบำบัดแบบเคลื่อนที่ได้ (บริษัท เซ็นเซอร์นิกส์ จำกัด)

อุปกรณ์กายภาพบำบัดผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการทำงานของอวัยวะต่างๆ ควบคุมด้วยระบบประสาท เช่น การเคลื่อนไหวร่างกาย การทรงตัว เป็นต้น ออกแบบและพัฒนา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง เพิ่มความมั่นใจและความปลอดภัยในการใช้งานแก่ผู้ป่วย ช่วยลดภาระนักกายภาพบำบัดที่มีจำนวนไม่เพียงพอ และทำให้ให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงการทำกายภาพบำบัดได้ง่ายขึ้น

          (2) เครื่องคัดแยกแก้วบรรจุภัณฑ์ความเร็วสูง (บริษัท เซ็นเซอร์นิกส์ จำกัด)

เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและคัดแยกข้อบกพร่องของแก้วบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการหลอมมาแล้ว ลดการใช้พลังงาน และความสูญเสียที่เกิดจากกระบวนการหลอม โดยตรวจสอบแก้วบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานด้วยการทำงานของระบบเซ็นเซอร์ที่มีความไวสูง และนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานของโรงงาน แก้วบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์จะถูกคัดแยกออกจากสายการผลิต สามารถเพิ่มหรือลดฟังก์ชั่นการทำงานได้ สามารถเก็บข้อมูลการผลิตแบบต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้สำหรับวิเคราะห์การวางแผนการผลิต ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของเครื่องถูกออกแบบให้ใช้งานได้ภายใต้สภาวะที่มีอุณหภูมิ และความชื้นสูงกว่าปกติ

          (3) เครื่องฉีดพลาสติกขนาดเล็ก (บริษัท อาร์ แอล ซี อินโนเวชั่น จำกัด)

เครื่องฉีดพลาสติกขนาดเล็กที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรม SMEs หรือการผลิตชิ้นงานต้นแบบที่มีจำนวนไม่มากแต่มีรูปแบบที่หลากหลาย สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ ลดปริมาณการใช้วัสดุเนื่องจากขนาดของเดือย (Sprue) ที่ต่อกับ Runner มีขนาดเล็กลง ค่าใช้จ่ายในการทำ Mold ลดลงและลดเวลาในการผลิต เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องฉีดพลาสติกขนาดใหญ่ ใช้พลังงานต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ชิ้นส่วนหลักในการผลิตและประกอบภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

13 14

15 3

          (4) ตู้พลังงานแสงอาทิตย์อเนกประสงค์ (บริษัท โซล่าเพาเวอร์เทคโนโลยี จำกัด)

พัฒนาและประยุกต์จากรถครัวสนามของกองทัพและรถปฐมพยาบาล นำมาประยุกต์ใช้สนับสนุนการประกอบอาหารหรือช่วยเหลืองานสาธารณภัย ปฐมพยาบาลช่วยเหลือประชาชนทั่วไป โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายและคล่องตัว สามารถติดตั้งได้ทุกพื้นที่ ตัวตู้สามารถเปิดได้ 3 ด้าน โดยมีกระบอกไฮดรอลิก เป็นตัวค้ำยันเปิด-ปิด ผนังด้านข้างช่วยป้องกันอันตรายจากการใช้งาน แผงโซลาร์เซลที่ติดกับตู้อเนกประสงค์มีขนาด 5,980 กิโลวัตต์ และมีแผงโซลาร์เซลอิสระที่ตั้งเพิ่มอีก 920 วัตต์ สามารถใช้งานได้ 6–8 ชั่วโมงต่อวัน สามารถยื่นขยายออกเป็นหลังคาและง่ายต่อการเก็บ ด้านในมีอุปกรณ์อเนกประสงค์ เช่น อุปกรณ์ปฐมพยาบาล และอุปกรณ์ประกอบอาหาร สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย

          (5) ระบบลิฟท์เคลื่อนย้ายผู้สูงอายุสำหรับบ้านพักอาศัย  (บริษัท อกรินโนเวท จำกัด)

ระบบลิฟต์ที่พัฒนาขึ้นจะใช้การขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแบบไม่มีห้องเครื่อง ทำให้ลิฟต์มีขนาดเล็ก สามารถติดตั้งในบ้านพักอาศัยได้ ประหยัดพลังงาน ค่าบำรุงรักษาต่ำ ทำงานโดยไม่มีเสียงรบกวน มีความทนทานสูง  สวยงามเหมือนเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน สามารถประกอบและติดตั้งได้ง่าย ใช้ระบบสมองกลฝังตัวควบคุมการทำงานของลิฟต์ รองรับน้ำหนักผู้โดยสารสูงสุด 200 กิโลกรัม ความสูงในการติดตั้งสูงสุด 9 เมตร ความเร็วในการเคลื่อนที่สูงสุด 15 เมตรต่อนาที มีระบบตรวจสอบอัตโนมัติก่อนการเคลื่อนที่ เพื่อความปลอดภัยของตัวลิฟต์และผู้โดยสาร เพื่อความปลอดภัยขณะลิฟต์การทำงาน เทคโนโลยีนี้จะช่วยแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น และลดการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุได้

วันที่กิจกรรม: 
Tue, 18/09/2018 - 17:00
ภาพประกอบ: 
แถลงข่าววิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า