กิจกรรมการบรรยายและถ่ายทอดเทคโนโลยีเรื่อง ผลงานจากโครงการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ประจำปี 2557

         เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดกิจกรรมการบรรยายและถ่ายทอดเทคโนโลยีเรื่อง ผลงานจากโครงการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ประจำปี 2557ณ ห้องประชุม 213 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งเป็นการจัดขึ้นภายในงาน Intermach 2015
         วัตถุประสงค์ในการจัดบรรยายเพื่อการสรุปเนื้อหาทางเทคนิคที่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เข้าร่วมที่เกิดจากผลงานกิจกรรมการพัฒนาสร้างเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ ด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ประจำปีงบประมาณ 2557 ซึ่งทะยอยส่งมอบผลงานตั้งแต่ช่วงปลายปีงบประมาณ 2557 จนถึงช่วงต้นปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอบให้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสต์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานรับบริหารจัดการกิจกรรม โดยให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาสร้างผลงานด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่มีความต้องการจากอุตสาหกรรม


โดยมีเนื้อหาในการบรรยาย ประกอบด้วยการนำเสนอผลงานที่ประสบผลสำเร็จบางส่วนจากกิจกรรมที่ดำเนินจำนวน5โครงการ ได้แก่
1) โครงการพัฒนาสร้างระบบปรับอากาศที่ใช้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหลัก ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาระบบการปรับอากาศและลดอุณหภูมิภายในอาคารด้วยกระประยุกต์ใช้ระบบทำความเย็นแบบดูดซึมพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ร่วมกับระบบปรับอากาศที่ช่วยให้การออกระบบทำความเย็นของอาคารสามารถประหยัดพลังงานได้ดีขึ้น เป็นแนวคิดการนำพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นความได้เปรียบของประเทศที่เป็นเมืองร้อนอย่างประเทศไทย มาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ในระหว่างที่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า (solar cell) ยังอยู่ในขั้นตอนการส่งเสริมและพัฒนา และพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังานความร้อนไปผลิตกระแสไฟฟ้า (solar thermal) ยังไม่มีการศึกษามากนัก

2) โครงการพัฒนาสร้างระบบโอโซนสำหรับบ่อเลี้ยงกุ้งแบบหนาแน่นและปลอดเชื้อ ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวคิดการใช้โอโซนที่มุ่งให้เกิดผลลัพธ์ในการขยายระยะเวลาการใช้แหล่งน้ำสำหรับการเกษตรที่จะไม่เกิดการสะสมของเชื้อโรคที่นำไปสู่การมีปริมาณออกซิเจนลดลงต้ำกว่าระดับที่เหมาะสมหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยกำหนดกรณีตัวอย่างเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง ซึ่งผลงานกำลังได้รับความสนใจจากธุรกิจการผลิตกุ้งเพื่อการส่งออกจำนวนมาก
 
3) โครงการพัฒนาสร้างเครื่องทดสอบหาความหนืดมูนนี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการทดสอบคุณสมบัติยางธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อเป็นผู้นำในระดับโลก

และ 4) โครงการพัฒนาสร้างระบบหุ่นยนต์พ่นสีอัตโนมัติที่เป็นการนำเสนอผลงานด้านระบบอัตโนมัติที่เป็นหนึ่งในความเชี่ยวชาญของสถาบันไทย-เยอรมัน ที่เป็นเป้าหมายในปัจจุบันที่สถาบันฯ ต้องการยกระดับขีดความสามารถให้เข้าไปมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมมากขึ้น นอกเหนือจากได้ดำเนินการไปแล้วในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เช่น เทคโนโลยี CNC เทคโนโลยีแม่พิมพ์ และเทคโนโลยีการออกแบบทางคอมพิวเตอร์
ทั้ง 4 โครงการจากสถาบันไทย-เยอรมัน นำเสนอโดย คุณจิรศักดิ์ เยาวัชสกุล ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมันและทีมงาน
และอีก 1 ผลงานที่ได้รับความสนใจมากคือโครงการพัฒนาสร้างเครื่องยิงคัดแยกสีเมล็ดข้าวสาร (rice sorter) โดย ผศ. ดร. พิชัย จันทร์มณี หัวหน้าโครงการและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้การจำแนกสีของเมล็ดข้าวสารสำหรับการบรรจุถุงเพื่อจำหน่าย เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ข้าวสารบรรจุถุงคัดพิเศษซึ่งนอกจากจะใช้งานเพื่อการคัดแยกข้าวให้ได้เฉพาะขาวสารที่มีสีขาวที่สุดแล้ว ยังสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ในการคัดแยกข้าวหอมนิลที่มีเฉพาะสีดำ ข้าวหอมนิลเฉพาะเมล็ดสีแดง รวมทั้งข้าวไรซ์เบอรี (rice berry) ที่สามารถคัดแยกให้เป็นเฉพาะสีม่วงให้สอดคล้องกับสีของผลเบอรี ก็เป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากข้าว
นอกเหนือจากการนำเสนอผลงานที่มาจากโครงการฯ การจัดกิจกรรมเพิ่มเติมด้วยการบรรยายความรู้ด้านการออกแบบและพัฒนาเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตรและแปรรูป โดย รศ. ดร. ชัชพล ชังชู ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการและการออกแบบระบบเครื่องจักรกล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การจัดบรรยายได้รับความสนใจจากผู้เข้าฟังจำนวนมาก ทั้งในเชิงผู้สนใจงานด้านวิศวกรรมศาสตร์ งานประดิษฐ์คิดค้นเพื่อการพัฒนาจากสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคอุตสาหกรรม

 

วันที่กิจกรรม: 
Wed, 27/05/2015 (All day)