กระทรวงวิทย์ฯ โชว์นวัตกรรม ครม.สัญจร หัวหิน
วันนี้ (27 มีนาคม 2558) เวลา 17.30 น. ณ สถานพักฟื้นและพักผ่อนกองทัพบก สวนสนประดิพัทธ์แห่งที่ 2 อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อ SMEsและเกษตรกร” ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ 14 กระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดขึ้น โดยได้คัดสรรผลงานโดดเด่นฝีมือคนไทยมาจัดแสดง แบ่งการจัดนิทรรศการออกเป็น 7 โซน รวมทั้งสิ้น 332 ชิ้นงาน โดยซึ่งแต่ละโซนมีไฮไลท์สำคัญ ดังนี้
โซนที่ 1 เกษตรและชุมชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำนวัตกรรมเครื่องฆ่ามอดข้าวด้วยคลื่นวิทยุระดับอุตสาหกรรม โดยใช้ความร้อนจากคลื่นวิทยุซึ่งสามารถกำจัดมอดและแมลงโดยไม่สร้างความเสียหายต่อเมล็ดข้าว ถัดมาเป็นนวัตกรรมหุ่นยนต์หยอดข้าวอัจฉริยะ ทำให้ต้นข้าวเรียงตัวเป็นแถวอีกทั้งยังกำหนดจำนวนเมล็ดต่อหลุมหยอดได้ โดยใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 1.5 กิโลกรัมต่อไร่ และรวมนวัตกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ฝนหลวง ข้าว 12 สายพันธุ์ พันธุ์ปาล์มน้ำมัน ชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอย ถนนและบล็อกปูพื้นจากยางพารา ด้านกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ได้นำอากาศยานไร้คนขับเพื่อการทำแผนที่ทางการเกษตรรายละเอียดสูงและแผนที่แบบ 3 มิติ มาแสดง
โซนที่ 2 น้ำ มีการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ตั้งแต่การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค การสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิต การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและการพังทลายของดิน ตลอดจนการบริหารจัดการ ด้านกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและเกษตร (สสนก.) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พัฒนาเรือนอัตโนมัติสำหรับงานสำรวจและเก็บข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้พัฒนารูปแบบและกลไกของเรือขนาดเล็กให้สามารถบรรทุกเครื่องมือสำรวจตรวจวัดคุณภาพน้ำ
โซนที่ 3 ระบบราง โดยกระทรวงคมนาคม นำเทคโนโลยีการใช้ยางพารามาผสมกับแอสฟัสต์ซีเมนต์ สำหรับก่อสร้างเป็นผิวทางและผสมกับแอสฟัสต์อิมัลชันสำหรับยารอยแตกเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพและเพิ่มความฝืดให้ผิวทาง กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับกลุ่มผู้ออกแบบพัฒนาระบบเครื่องกั้นรถไฟอัตโนมัติ โดยใช้เซนเซอร์นับล้อตรวจจับขบวนรถไฟและส่งสัญญาณไปเปิด/ปิดเครื่องกั้นรถไฟฟ้าอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีสำหรับรถไฟฟ้าคือ ปุ่มหยุดรถไฟฉุกเฉิน EMP สำหรับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใช้กดเพื่อหยุดไม่ให้รถไฟฟ้าเข้ามาที่สถานีในกรณีเกิดเหตุการณ์ผู้โดยสารตกจากชานชาลาลงไปในรางวิ่งรถไฟฟ้า
โซนที่ 4 การแพทย์และสมุนไพร มีการนำเก้าอี้ทำฟันสำหรับผู้พิการ พัฒนาโดยบริษัทไทยเด็นทอล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จากการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยนวัตกรรมดังกล่าวเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการและผู้สูงอายุสามารถนำรถเข็นของผู้พิการเข้าไปในเครื่องมือได้ทั้งเครื่องโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้พิการ จึงทำให้ทันตแพทย์สามารถทำการรักษาผู้ป่วยได้ทันที อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้นอกสถานที่ได้โดยสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ได้ ขณะที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ กระทรวงสาธารณสุข นำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง บัว ไผ่ ข้าว มานำเสนอ โดยเป็นการไขรหัสลับจากธรรมชาติ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ได้ผลดีไม่แพ้ครีมต่างประเทศในราคาย่อมเยา
โซนที่ 5 ความมั่นคง พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงกลาโหมได้นำนวัตกรรมการอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งสามารถบินได้ด้วยระบบอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้นักบินประจำการ สามารถใช้ปฏิบัติภารกิจด้านข่าวกรอง การเฝ้าตรวจ การค้นหาเป้าหมายและการลาดตระเวนได้ อีกนวัตกรรมที่น่าสนใจคือ เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่ใช้ป้องกันการจุดชนวนระเบิดในระยะไกล และได้นำไปใช้แล้วในการรักษาความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ยังมีการนำนวัตกรรมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมคือ ระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ โดยนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาย่อยสลายสารอินทรีย์มาเปลี่ยนรูปเป็นก๊าซชีวภาพซึ่งได้ประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง อาหาร และโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มแล้ว
โซนที่ 6 ท่องเที่ยววิถีไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดนิทรรศการท่องเที่ยววิถีไทยที่รวมเทศกาลสงกรานต์ นิทรรศการ 12 เมืองต้อง...ห้ามพลาด ได้แก่ ลำปาง น่าน เพชรบูรณ์ เลย บุรีรัมย์ จันทบุรี ตราด ราชบุรี สมุทรสงคราม ชุมพร นครศรีธรรมราช และตรัง โดยมีการประยุกต์ใช้คิวอาร์โค้ดในการให้ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ อีกด้วย รวมถึงนิทรรศการว่าวไทย 4 ภูมิภาค ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทย และนวัตกรรมว่าวที่ผลิตโดยคนไทย นิทรรศการ Google Map Street View โดยนำเทคโนโลยีการถ่ายภาพ 360 องศา มาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว
โซนที่ 7 SMEs และการส่งเสริมการส่งออก มีการนำเครื่องเกี่ยวนวดข้าวที่มีประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวในพื้นที่นาหล่ม ลดการสูญเสียข้าวรวมไม่เกิน 3% ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนในการผลิต ถุงมือผ้าเคลือบยางพาราเอนกประสงค์ โดยใช้น้ำยางพาราเคลือบเพื่อเพิ่มความหนึบ กันลื่น และป้องกันการบาดของขอบถุงมือ นวัตกรรมพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬาและลานอเนกประสงค์โดยใช้ยางธรรมชาติ นวัตกรรมแผ่นยางรองเท้าเพื่อสุขภาพ ผลิตจากยางธรรมชาติที่พัฒนาคุณสมบัติได้ใกล้เคียงกับเนื้อเยื่อส้นเท้าของคน ซึ่งช่วยในการกระจายแรงกด ลดแรงกระแทกและลดความดันส้นเท้าได้ เหมาะสำหรับนักกีฬา หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีน้ำหนักมาก ผู้ที่มีปัญหาเจ็บส้นเท้าและคนรักสุขภาพ หมอนยางพาราเพื่อสุขภาพ เป็นหมอนหนุนศีรษะที่มีปุ่มนวดทั่วทั้งใบ ซึ่งช่วยกระจายแรงกดทับ และช่วยการไหลเวียนของโลหิต ผลิตจากน้ำยางพาราธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ มีความนุ่มและยืดหยุ่นสูง มีการระบายอากาศที่ดีทำให้ไม่อับชื้น ทำให้ศีรษะเย็นสบายตลอดเวลาที่นอนหลับพักผ่อน
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) และธนาคารออมสิน ที่เป็นกลไกส่งเสริม SMEs เพื่อรับขึ้นทะเบียน รวมไปถึงการบริการต่างๆ เช่น สินเชื่อเพื่อนวัตกรรมด้วย