เปิดตัวหุ่นยนต์บริการ “เทโบ้” พร้อมจัดเสวนา “ถอดรหัสความสำเร็จภาคธุรกิจบริการ 4.0” เพิ่มโอกาสเพื่อผู้ประกอบการไทย

จ, 26/12/2016 - 19:36 — admin5
 
ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ของแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และเมื่อเร็ว ๆ นี้กรุงเทพมหานคร เพิ่งคว้าแชมป์โลกเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดถึง 21.47 ล้านคน แซงหน้านครลอนดอนและปารีส ภาคธุรกิจบริการ (Service Industry) ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม ค้าปลีก การท่องเที่ยว การแพทย์สุขภาพ และบริการอื่นๆ  เป็นอีกเครื่องยนต์หลักตัวใหม่ที่จะขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งปฏิรูป เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศ  คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บริษัท ซีที เอเซีย โรโบติกส์ จำกัด และ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดตัว หุ่นยนต์บริการ “ดินสอ เทโบ้ (TEBO)” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคบริการของไทย โดยได้รับทุนจาก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค สวทช.) พร้อมจัดเสวนา “ถอดรหัสความสำเร็จ…ภาคธุรกิจบริการ 4.0” พัฒนาสู่ไทยแลนด์ 4.0
 
 
คุณวนิดา บุญนาคค้า (Wanida Boonnakka) ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการพัฒนาต่อยอดหุ่นยนต์บริการดินสอ เทโบ้ (TEBO) เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในประเทศไทย ซึ่งทวีบทบาทความสำคัญต่อระบบการผลิตและบริการต่าง ๆ มากขึ้นทุกขณะ ในปี 2558 ยอดขายหุ่นยนต์ทั่วโลกมีประมาณ 254,000 ยูนิต และจากข้อมูลของ International Federation of Robotics (IFR) พบว่าการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลกในปี 2015 มาจาก 5 อุตสาหกรรมหลัก คิดเป็น 85% โดยแบ่งเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์ 38%,อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 21 %, อุตสาหกรรมเหล็ก 14%, อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก 9%, อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 3% และอื่น ๆ 15% สำหรับแนวโน้มการใช้งานหุ่นยนต์โดยรวมของโลกคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 2 เท่า ส่วนในประเทศไทยนั้นมีการนำเข้าหุ่นยนต์ปีละกว่า 4,000 ตัว ซึ่งกว่า 95% เป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรม การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ดินสอ เทโบ้ (TEBO) จะลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันการใช้งานหุ่นยนต์ในภาคบริการมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากภาคธุรกิจบริการของไทยมีจุดเด่นหลายประการ ประโยชน์ของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติตอบสนองในงานประเภททำซ้ำ งานหนัก งานเสี่ยงอันตรายหรือต้องการความละเอียดสูง รวมถึงกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ในภาคธุรกิจบริการ ส่งเสริมลูกค้าสัมพันธ์และกิจกรรมที่แปลกใหม่ ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ 
 
ดร.รัชนี กุลยานนท์ (Rutchanee Gullayanon) ผู้ช่วยคณบดีด้านบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ ดินสอ เทโบ้ (TEBO) เป็นการต่อยอดโดยเพิ่มขีดความสามารถและตอบสนองอุตสาหกรรมบริการมากขึ้น โครงการนี้เป็นการพัฒนาหลักการ 2 อย่าง ได้แก่ ในส่วนระบบเคลื่อนที่ด้านล่าง โดยสร้างหุ่นยนต์ต้นแบบเฉพาะส่วนเคลื่อนที่ด้านล่างให้เป็น Intelligent Navigation System โดยให้ชื่อว่า ดินสอ เทโบ้ (TEBO) สามารถเดินไปยังจุดที่ถูกกำหนดจากคำสั่งได้เอง โดยไม่ต้องใช้แถบแม่เหล็กหรือ Tracking เป็นตัวนำอีกต่อไป และออกแบบหุ่นยนต์ให้สามารถเดินหาตำแหน่งการชาร์จแบตเตอรี่เองได้ด้วย เมื่อชาร์จแบตเตอรี่เต็มแล้ว หุ่นยนต์จะปลดตัวเอง และกลับมาจุดประจำการอีกครั้ง ช่วยประหยัดเวลาและลดภาระให้กับผู้ควบคุมหุ่นยนต์ สำหรับอุตสาหกรรมการบริการ เช่น ร้านอาหาร หน้าที่ของ หุ่นยนต์ดินสอ เทโบ้ (TEBO) ออกแบบมาให้สามารถรับออร์เดอร์และเสิร์ฟอาหารได้ พร้อมทั้งสร้างความบันเทิง เช่น ทักทาย อวยพรวันเกิดหรือร้องเพลงในโอกาสและเทศกาลสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังไม่ต้องติดเส้น Tracking นำทาง ซึ่งอาจรบกวนความสวยงามของพื้นในสถานประกอบการได้  ในยุโรปและญี่ปุ่นมีการใช้งานหุ่นยนต์บริการมากขึ้น และมีแนวโน้มการนำไปปฎิสัมพันธ์กับมนุษย์ในบริการต่าง ๆ เช่น การนำไปเป็นเพื่อนเด็ก ๆ และเชิญชวนให้รับประทานผักอย่างเบิกบานใจ เป็นต้น
 
คุณเฉลิมพล ปุณโณฑก (Chalermpon Punnotok) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีที เอเซีย โรโบติกส์ จำกัด กล่าวว่า ภาคบริการเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและกำลังเร่งปฎิรูป เพื่อก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 จากผลการศึกษาของเวิลด์แบงก์ พบว่าภาคบริการของไทยมีสัดส่วนต่อจีดีพีในระดับ 50% ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วจะอยู่ที่ระดับ 70% ที่ผ่านมาหุ่นยนต์บริการในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อย ถือเป็นช่องว่างของการตลาดที่ยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก บมจ.ซีที เอเซีย โรโบติกส์  เป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทยและประสบความสำเร็จในการส่งออกสู่ยุโรปและญี่ปุ่น ได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมจากสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ บริษัทฯ ก่อตั้งในปี พ.ศ.2552 โดยได้รวบรวมนักศึกษาที่ผ่านเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์ประเภทต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งระดับประเทศและระดับโลกมารวมตัวกัน และสร้างสรรค์ผลงานต่อยอดจากการประดิษฐ์เชิงแข่งขันมาเป็นการประดิษฐ์เชิงพาณิชย์ที่ใช้งานได้จริง หุ่นยนต์รุ่นแรกคือ หุ่นยนต์ดินสอ 1, หุ่นยนต์ดินสอ 2 ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นหุ่นยนต์สันทนาการ ขณะนี้ หุ่นยนต์ดินสอ เทโบ้ (TEBO) พัฒนามาจากแม่แบบดินสอรุ่น 3 พัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็นหุ่นยนต์บริการและประชาสัมพันธ์ในธุรกิจบริการต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ศูนย์การค้า โรงแรม โรงพยาบาล การแพทย์และสุขภาพ สถานพยาบาลผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยสอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล 
 
ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ (Narongdech Keeratipranon) หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า หุ่นยนต์ดินสอ เทโบ้ (TEBO) สามารถปรับความสูงได้ตามสภาพแวดล้อมที่จะนำไปใช้ ที่สำคัญหน้าตารูปร่างที่เปลี่ยนไปจากดินสอรุ่น 3 ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนั้น สาเหตุหลักก็เพื่อลดต้นทุนส่วนที่ไม่จำเป็นออก ให้เหลือเพียงที่ต้องใช้งานจริง ๆ เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ราคาไม่สูงและธุรกิจร้านอาหาร หรือผู้ประกอบการที่กำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาค่าจ้างสูงหรือปัญหาการจ้างแรงงานต่างชาติได้มีทางเลือกและสามารถควบคุมต้นทุนได้มากขึ้นด้วย
  
 
ในงานนี้ได้มีการจัดงานเสวนาเรื่อง “ถอดรหัสความสำเร็จ...ภาคธุรกิจบริการ 4.0” โดยมีผู้ร่วมเสวนา 4 คน มาร่วมแลกเปลี่ยนปัจจัยความสำเร็จของภาคธุรกิจบริการของไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้แก่ คุณเฉลิมพล ปุณโณฑก ประธานกรรมการบริหาร บจก. ซีที เอเซีย โรโบติกส์ มาร่วมเปิดมุมมองใหม่สร้างความแตกต่างในการสร้างแบรนด์และคุณค่าของภาคธุรกิจบริการที่สัมผัสได้, ดร.เอกศักดิ์ แดงเดช ประธานกรรมการ บมจ.FARM in LOVE แบ่งปันประสบการณ์ในฐานะผู้ประกอบการด้านร้านอาหารพร้อมแนะแนวทางว่าเทคโนโลยีในอนาคต จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจบริการได้อย่างไร รวมถึงวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคอย่างเข้าใจและเข้าถึง, ดร.รัชนี กุลยานนท์ ผู้ช่วยคณบดีด้านบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. พูดถึงการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อสารสนเทศภายในองค์กร ลูกค้า ซัพพลายเออร์ และกลุ่มเป้าหมายใหม่ เสริมกลยุทธ์ธุรกิจ ดร. ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ หัวหน้าภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เสนอแนวทางการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ ถือเป็นโอกาสของภาคธุรกิจบริการที่จะสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้ประเทศ จากตัวอย่างในภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวซึ่งเกิดผลกระทบในหลายประเทศ แต่ประเทศอังกฤษยังคงมีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง เนื่องจากมีรายได้หลักจากภาคบริการทำให้เกิดผลกระทบน้อย 
วันที่กิจกรรม: 
Fri, 23/12/2016 - 17:00
ภาพประกอบ: 
เปิดตัวหุ่นยนต์บริการ “เทโบ้” พร้อมจัดเสวนา “ถอดรหัสความสำเร็จภาคธุรกิจบริการ 4.0” เพิ่มโอกาสเพื่อผู้ประกอบการไทย