ประวัติเจ้าของ Panasonic National โคโนซุเกะ มัสซึชิดะ มาจากลูกชาวนา โรงงานเริ่มเเรกมีพนักงาน 3คน

No replies
admin5
Offline
Joined: 05/06/2012
เอาประวัติของบริษัทใหญ่ๆมาให้อ่านกันครับ เริ่มจากการศึกษาบริษัทใหญ่ๆดูว่าเขามีเส้นทางอย่างไรถึงมีทุกวันนี้   



National-Panasonic



วัยเด็ก
สภาพเป็นอยู่ในวัยเด็ก


            โคโนสุเกะ มัตซึชิตะ เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 1894 ที่เมืองวากายามา ใกล้กับโอซาก้า  ในตระกูลชาวนาที่ถือได้ว่าค่อนข้างมั่งคั่ง มีพี่น้องรวม 8 คน พ่อของเขาเป็นกรรมการหมู่บ้าน  และได้รับการยอมรับจากชาวบ้านมาก  ในปี 1899 พ่อของเขาได้ทำการซื้อขายข้าวในตลาดล่วงหน้า  และขาดทุนจนสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องขายบ้าน  และที่ดินที่ตกมาหลายชั่วอายุคน และย้ายไปอยู่ในชุมชนแออัดของเมืองวากายามา โดยอาศัยการเช่าไปวัน ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังเรียนไม่จบ จากสภาพความเป็นอยู่ที่ข้นแค้น  และลำบากในฤดูใบไม้ร่วงปี 1900 พี่ชายคนรองของเขาซึ่งตอนนั้นอายุ 18 ปีได้ล้มป่วยและเสียชีวิตลง  หลังจากนั้น 3 เดือนพี่สาวเขาซึ่งอายุได้ 21 ปีก็เสียชีวิตตามไปอีกคน ดูเหมือนชีวิตของครอบครัวมัตซึชิตะจะไม่หยุดโชคร้ายเพียงแค่นั้น ปีถัดมาพี่ชายคนโตของเขาก็จากโลกไปอีกคน  ทำให้ครอบครัวของเขาต้องเสียชีวิตไปถึง 3 คนเพียงในเวลาปีเดียว  ทำให้เขากลายเป็นลูกชายคนเดียวของตระกูล ทุกคนจึงฝากความหวังกับเขาคนเดียว

            ชีวิตของมัตซึชิตะในวัยเด็กไม่ได้มีอะไรโดดเด่น หรือฉายแววว่าจะเป็นมหาเศรษฐีได้เลย ตรงกันข้ามกลับมีปมด้อยในเรื่องความยากจนต่อเพื่อนในโรงเรียน ( เขาเริ่มเรียนหนังสืออีกครั้งหลังจากที่สูญเสียพี่ทั้ง 3 ไปในปีนั้นเอง ) แต่ยังดีที่เขาได้รับความเอ็นดูจากคุณครูมูรากามิที่สั่ง-สอนเขาให้มีความมั่นใจและกลับมามีความสุขอีกครั้งเมื่อเขาอายุได้ 9 ปีเขาได้ออกจากโรงเรียนเนื่องจากความยากจน และมุ่งหน้าสู่นครโอซาก้าเพื่อทำงานท่ามกลางความหวาดกลัวของเด็กที่ต้องเริ่มใช้ชีวิตตามลำพังโดยมิสามารถคาดเดาอนาคตของตัวเองได้  โดยเริ่มแรกเขาได้ทำงานเป็นเด็กรับใช้ในร้านขายถ่านและเป็นเดฃ้กฝึกงานในตัวด้วย  ต่อมาได้เริ่มทำงานในส่วนที่ไม่ต้องใช้ฝีมือเช่น ขัดกระดาษทรายที่ใช้แรงเป็นหลักโดยแลกกับอาหารสามมื้อ ที่ซุกหัวนอนและค่าจ้างอันน้อยนิด  แต่หลังจากนั้นโรงงานก็ย้ายและไม่จ้างเขาต่อ ทำให้เขาต้องหาที่ทำงานใหม่ และเขาก็ได้ทำงานในร้านขายรถจักรยานซึ่งในขณะนั้นเป็นของใหม่และผู้มีฐานะพอสมควรเท่านั้นที่สามารถซื้อได้  การทำงานในที่ใหม่นี้หนักกว่าเก่ามากโดยต้องทำทุกวันไม่มีวันหยุดนอกจากเทศกาลปีใหม่เท่านั้น  เขาได้ใช้ชีวิตและทำงานที่นี่มา 6 ปีเต็มแม้ว่างานจะหนักหนาสาหัสเพียงใดเขาก็ไม่หวั่นและที่ได้ติดตัวมาอีกนั้นก็คือความรู้มหาศาลจากประสบการณ์จริงทั้งเรื่อง ต้นทุนสินค้า การขาย และการเข้าถึงลูกค้า ซึ่งเป็นความรู้ที่ไม่มีในหนังสือแต่ต้องเจอกับตัวจริงเท่านั้น  ในการทำงานที่นี่ทำให้เขาเติบใหญ่ขึ้นทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ความกล้าที่จะพูดความจริง  แม้ว่าในขณะที่เขาทำงานที่นี่เขาก็มีโอกาสที่จะทำงานในไปรษณีย์แต่คุณพ่อของเขากลับให้ทำต่อไปเนื่องด้วยเหตุผลการมีโอกาสที่จะมีธุรกิจตัวเองในอนาคต  

            ในปี 1906 พี่สาว น้องสาว รวมถึงคุณพ่อของมัตซึชิตะได้ล้มป่วยและเสียชีวิตลง ทำให้แม่และพี่สาวของเขาย้ายกลับไปเมืองวากายามา ปล่อยให้มัตซึชิตะอยู่โอซาก้าตามเดิม  เมื่อเขาอายุได้ 15 ปีเขาจึงตัดสินใจที่จะละงานที่ร้านขายรถจักรยานเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของตัวเอง



การมองและเริ่มต้นในวัยทำงาน 

            แม้ว่าถ้าทำงานที่ร้านรถจักรยานต่อไป เขาจะมีโอกาสมีกิจการตัวเอง  แต่เขาเห็นว่าจักรยานจะมีการใช้น้อยลงโดยจะถูกแทนที่ด้วยรถไฟ ทำให้เขาไม่แน่ใจในอนาคตตัวเอง และสนใจในเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ด้วย ดังนั้นเขาจึงลาออกจากร้านเพื่อไปทำงานที่โอซาก้าไลท์ ซึ่งเขาได้เป็นพนักงานเดินสายไฟในอาคาร  การที่เขาออกมาทำงานตามที่เขาชอบและต้องการนี้ถือว่าเป็นความท้าทายในชีวิตอย่างยิ่ง เขายอมกล้าเสี่ยงกับความล้มเหลวเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ในช่วงปี 1910 ที่มัตซึชิตะได้เริ่มทำงานในโอซาก้าไลท์นั้น เป็นช่วงที่ไฟฟ้าเริ่มเข้ามาในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ผู้คนทั่วไปยังหวาดกลัวและจะไม่กล้าเข้าใกล้มันหากคนผู้นั้นไม่ใช่คนที่ชำนาญเป็นพิเศษ ทำให้เขาได้รับการยอมรับในบุคคลทั่วไปพอสมควร  ช่วงแรก ๆ เขาเป็นเพียงผู้ช่วยช่างเดินสายไฟตามอาคารเท่านั้น ต่อมาเขาก็สามารถเรียนรู้และเป็นช่างเดินสายไฟได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว  และ 3 เดือนต่อมาเขาได้ย้ายไปที่สาขาใหม่และเป็นช่างเดินสายไฟเต็มตัว นอกจากความชำนาญแล้ว ความอดทนและการใช้สมองก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะต้องปีนขึ้นไปเดินสาย รวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการเดินสายรวมถึงการเสี่ยงต่อถูกไฟฟ้าช็อตด้วย  จากการทำงานของเขาทำให้เขาได้เรียนรู้และทำงานในการเดินสายไฟให้กับโรงงานใหญ่ ๆ  แต่อย่างไรก็ตามเขาไม่ถนัดเลยในเรื่องการศึกษาเพราะอ่อนภาษาเขียนมาก  จากความสามารถและขยันทำงานทำให้เขาได้เป็นหัวหน้าในการเดินสายไฟโดยที่มีอายุไม่ถึง 20 ปีด้วยซ้ำ  

            จากความสามารถที่มี ความมั่นใจในตัวเอง รวมถึงการท้าทายต่อตัวเอง ทำให้เขามีความคิดที่จะสร้างธุรกิจของตัวเอง  หลังจากที่เขาทำงานที่โอซาก้าไลท์ได้ 3 ปี แม่ของเขาได้เสียชีวิตลง ทำให้สมาชิกของเขาทั้ง 10 คน ขณะนี้เหลือเพียง 3 คนเท่านั้น  หลังจากนั้นเขาก็ได้แต่งงานกับมูเมโนะ อูอิเอะ เมื่อปี 1915 ขณะที่เขาอายุได้ 20 ปี  หลังจากนั้นอีก 2 ปีเขาได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าใหญ่ตรวจสอบความคืบหน้าของงานของบริษัท  เนื่องจากการที่เขาได้เป็นหัวหน้าใหญ่ทำให้การท้าทายสำหรับชีวิตเขาน้อยลงและขาดความสนุกสนานกับงาน รวมไปถึงการเสนอผลงานของตนกลับไม่เป็นที่สนใจเลยในสายตาของเจ้านายเขา ความรู้สึกไม่ชอบทวีความรุนแรงขึ้นจนในที่สุด โคโนสุเกะจึงได้ตัดสินใจลาออกโดยมุ่งมั่นที่จะทำผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับในตลาดให้ได้   



การก่อตั้งธุรกิจ

ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ


            จากการที่เขาตัดสินใจที่จะออกมาทำเต้าเสียบหลอดไฟฟ้า สุขภาพที่เคยอ่อนแอของเขาในขณะที่เป็นหัวหน้าอยู่โอซาก้าไลท์ก็เริ่มดีขึ้นผิดหูผิดตา อาจเนื่องมาจากความท้าทายใหม่ก็ได้  โดยที่ในปี 1917 เขาได้ยื่นใบลาออกอย่างเป็นทางการเพื่อไปสู่เส้นทางใหม่ของเขาที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงและไม่แน่นอน  การเริ่มต้นของเขาใช้ทุนเพียง 100 เยนจากการเก็บหอมรอมริบของตัวเอง โดยมีทีมงานที่เป็นเป็นภรรยาและเพื่อนสนิทรวมอีก 4 คน  โรงงานแห่งแรกที่เขาเปิดก็คือห้องของโคโนสุเกะนั่นเอง โดยเริ่มทดลองผลิตเต้าเสียบแบบใหม่ที่ดีกว่าท้องตลาดแต่ติดปัญหาหลักที่ฉนวนไฟฟ้า  การทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าล้มเหลวแต่อย่างไรก็ดีเขาก็ได้ผู้ร่วมงานเก่าซึ่งชำนาญด้านฉนวนไฟฟ้ามาแก้ไขให้ หลังจากทำการทดลองอยู่ 4 เดือนเขาก็ได้ผลงานชุดแรกออกมา  แต่น่าเสียดายที่ไม่มีร้านขายเครื่องไฟฟ้าแห่งใดเลยที่เชื่อใจเขาเนื่องจากเห็นเขาเป็นมือใหม่ การขายของไม่ออกทำให้เพื่อนร่วมงานของเขาทั้ง 2 เกิดความลังเลใจ และในที่สุดเขาสองคนก็ลาออก  แน่นอนว่าสถาน-การณ์ตอนนั้นเลวร้ายสุดๆ เงินไม่มี เพื่อนไม่อยู่ ทำให้กิจการของเขาน่าจะล้มลง แต่ความพยายามและไม่ยอมแพ้ของเขายังผลักดันให้เขาทำงานปรับปรุงเต้าเสียบต่อไปแม้ว่าจะขาดเงินก็เข้าโรงรับ-จำนำเอาเสื้อผ้าและของมีค่าไปขาย และยังคอยขายของเสมอแม้ว่าร้านส่วนใหญ่จะไม่เอาด้วยก็ตาม 



ความสำเร็จและการดำเนินธุรกิจ 

ความสำเร็จเบื้องต้น 

              เหมือนฟ้าหรือเทวดาเห็นในความมุมานะของเขา ในเดือนธันวาคมปีนั้น ผู้ค้าส่งรายหนึ่งที่ชื่นชมในความพยายามของเขาพบว่าคู่ค้าต้องการฉนวนไฟฟ้าสำหรับพัดลมที่ไม่ใช่กระเบื้องเคลือบเพราะแตกง่าย  เขาจึงไปบอกโคโนสุเกะให้ผลิตฉนวนที่ทำจากใยหิน  โคโนสุเกะได้ยินเช่นนั้นจึงวางมือจากเต้าเสียบทันทีเพื่อผลิตฉนวนไฟฟ้าจำนวน 1000 ชิ้นตามที่ลูกค้าต้องการ แม้ว่าจะเหลือแรงงานเพียงแค่ 3 คนในโรงงานของเขา แต่พวกเขาก็ได้ทำงานกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ 

วันละกว่า 18 ชั่วโมง ในที่สุดเขาก็ทำเสร็จในเดือนเดียวทำให้เขามีเงินมาหมุนในกิจการและเป็นกำลังใจอย่างดีที่จะช่วยให้กิจการสามารถทำต่อไปได้  หลังปีใหม่เขาก็ได้รับคำสั่งซื้อมาอีกจากคุณภาพและการบริการที่ดีของเขา  เมื่อเขาเห็นว่าคำสั่งซื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงหาทางขยายโรงงาน  โดยในเดือนต่อมาเขาก็ได้เช่าบ้าน 2 ชั้นและทำการปรับเปลี่ยนให้เป็นโรงงานเพื่อผลิตสินค้า  นอกจากที่เขาจะผลิตฉนวนเป็นสินค้าหลักแล้ว เขายังได้พัฒนาปรับปรุงเต้าเสียบและปลั๊กไฟที่เขาเคยทำก่อนอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น  ไม่นานนักผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นี้ก็ ได้รับการสนองจากลูกค้าเป็นอย่างดีด้วยราคาที่ประหยัดกว่าในท้องตลาดร้อยละ 30  ซึ่งทำให้ขายได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นของคุณภาพดี ราคาถูก  การที่เขาทำเช่นนี้ได้เพราะเขารักษาต้นทุนให้มีระดับต่ำสุด ประหยัดมัธยัสถ์ในทุก ๆ เรื่อง  นอกจากนั้นยังเน้นเรื่องความยือหยุ่นคล่องตัว 

ความรวดเร็วและเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง



กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ

             ในการผลิตผลิตภัณฑ์นั้น โคโนสุเกะไม่มีช่างฝีมือเก่ง ๆ หรือแรงงานฝีมือ ดังนั้นเขาจึงนำเอาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในตลาดมาปรับปรุงและพัฒนาให้มีคุณภาพดีขึ้น 30 % และต้นทุนถูกกว่า 30 % โดยเขาเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์เองทั้งหมด และต่อมาเมื่อกิจการใหญ่ขึ้นจึงหาคนมาช่วยในด้านนี้ และเขาก็ไปทำในส่วนอื่นเพื่อให้การบริการและเวลาส่งมอบเขาดีที่สุด โดยไม่ค่อยลงทุนในเรื่องการพัฒนาวิจัยเนื่องจากขาดแคลนเงินทุน  การขยายตลาดของเขาเกิดขึ้นอย่างจริงจังในปี 1919 โดยเขาตัดสินในสาขาในโตเกียวขึ้นมาเป็นแห่งแรก  เมื่อยอดขายมากขึ้นเขาก็ได้ขยายพื้นที่และเพิ่มเครื่องจักร 

             โดยในปี 1922 โรงงานใหม่ของเขาก็เสร็จโดยใหญ่กว่าเดิม 4 เท่า มีลูกจ้างกว่า 30 คนโดยส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดเดือนละ 1-2 ชิ้นโดยใช้นโยบาย “ ดีกว่าแต่ถูกกว่า “  แต่สิ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของโคโนสุเกะโด่งดังที่สุดก็คือโคมไฟรถจักรยาน โดยสามารถส่องไฟได้นานกว่าเดิมจาก 10 ชั่วโมงเป็น 50 ชั่วโมง โดยใช้แบตเตอรี่เป็นพลังงาน  โดยในช่วงแรกไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้และร้านค้าไม่รับซื้อ แต่อย่างไรก็ตามเขาก็ไม่ยอมแพ้และทำการไปติดตั้งโคมไฟให้ฟรี  การที่โคมไฟสามารถส่องแสงได้นานทำให้ร้านค้าและประชาชนทั่วไปเกิดความประทับใจจนทำให้เกิดความต้องการสูงมากคือเดือนละกว่า 2,000 ชุดและมีคำสั่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 1924 คำสั่งซื้อโคมไฟของเขาสูงถึงเดือนละ 10,000 ชุดเลยทีเดียว                

             ในปี 1925 เขาก็ต้องทำการก่อสร้างโรงงานใหม่อีกครั้งและเริ่มมีการส่งตัวแทนจำหน่าย โดยให้บริษัท ยามาโมโต เทรดดิ้งเป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวโดยแลกกับคำสั่งซื้อเดือนละไม่ต่ำกว่า 10,000 ชุด โคมไฟที่ผลิตนี้นอกจากใช้กับจักรยานแล้ว ยังเป็นตัวแบบหลักในการออกแบบโคมไฟส่องสว่างที่เรียกว่า “ ตะเกียงเนชั่นแนล “ ซึ่งเป็นที่มาของยี้ห้อเนชั่นแนลในปัจจุบัน 

             ปี 1927 ได้ออกผลิตภัณฑ์เตารีดไฟฟ้าโดยเขาต้องการที่จะทำยอดให้ได้ 10,000 ชุดต่อเดือนจึงสามารถลดราคาเตารีดได้ 30 % - 50 % แต่ในขณะนั้นเตารีดมีราคาแพงและไม่ค่อยมีคนใช้กัน แต่เขาก็ไม่หวั่นโดยคิดว่าคนญี่ปุ่นควรจะมีเตารีดมากกว่านี้  การตัดสินใจของเขาถูกต้องเขาสามารถขายได้ตามเป้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความกล้าที่จะเสี่ยงในความท้าทายใหม่ และการทำงานเช่นนี้เองทำให้มัตซึชิตะ อิเล็กทริค เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยในปี 1928 เขามีพนักงานกว่า 300 คน จากที่มีเพียง 50 คนในปี 1922 



อุปสรรคในการทำงาน 

              การขยายโรงงานในปี 1928 ทำให้มัตซึชิตะ อิเล็กทริคต้องเข้าสู่ความลำบากอีกครั้ง ความถดถอยทางเศรษฐกิจรวมไปถึงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงญี่ปุ่นทำให้อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้หดตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง  ผลกระทบเช่นนี้ส่งผลถึงมัตซึชิตะด้วย  ยอดขายของบริษัทตกลงไปกว่าครึ่ง  วิกฤตทางการเงินได้คืบคลานมาหาเขาอีกครั้งหนึ่ง  การที่จะทำให้บริษัทอยู่รอดได้ก็คือต้องปลดพนักงานออกครึ่งหนึ่ง ( เช่นเดียวกับบริษัทใหญ่ ๆ ในโลก )  แม้ว่าในความเป็นจริงควรเป็นเช่นนั้นแต่โคโนสุเกะได้เลือกวิธี “ ลดการผลิตลงครึ่งหนึ่งโดยไม่ปลดคนงาน “  โดยที่เขาให้ทำงานครึ่งวันและอีกครึ่งวันให้นำเอาสินค้าในสต็อกไปขาย แต่ให้ทำงานทุกวัน  ของที่ขายนั้นเป็นของที่มีคุณภาพดีนำไปขายในราคาที่ถูกโดยการขายโดยตรงของคนงาน ไม่นานของในสต็อกก็ขายหมดเกลี้ยง  และในที่สุดโรงงานเขาก็ผ่ายพ้นวิกฤตการณ์มาได้และคนงานก็ได้ทำงานโดยปกติในปีต่อมา  นอกจากจะไม่ปลดคนงานแล้วเขายังได้รับเด็กมัธยมหรือวิทยาลัยมาฝึกอบรมเป็นเด็กฝึกงานอีกด้วย

ต่อมาในช่วงระหว่างปี  1925 – 1930 เขาได้ทำการร่วมทุนกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องรับวิทยุรายเก่าที่มีปัญหาด้านการเงินโดยมัตซึชิตะ อิเล็กทริคเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ การผลิตเครื่องรับวิทยุเครื่องแรกของบริษัทในปี 1930 แต่มีปัญหาเรื่องสินค้าโดยมีการส่งคืนเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการสำรวจแล้วพบว่าผู้ขายปลีกไม่มีความรู้เรื่องวิทยุเลย ( ญี่ปุ่นเริ่มมีวิทยุกระจายเสียงครั้งแรกในปี 1925 ) เมื่อลูกค้ามีปัญหาก็ส่งคืนร้านและตำหนิโดยทันทีทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงแค่ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เช่นไขน็อตไม่แน่นเท่านั้น  แม้ว่าการขายผ่านทางร้านที่มีช่างชำนาญเท่านั้นจะเป็นทางเลือกที่ดีและเร็ว แต่โคโนสุเกะกลับเลือกที่จะออกแบบเครื่องรับวิทยุที่ดีกว่าในท้องตลาด  ภายใน 3 เดือนเขาก็ได้ผลิตเครื่องรับวิทยุที่ได้รับการยอมรับว่าดีกว่าออกมาได้  และได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดเครื่องรับวิทยุอีกด้วย  การที่เขาได้รางวัลชนะเลิศเป็นการพิสูจน์ว่าหัวใจของ

มัตซึชิตะอิเล็กทริคไม่ได้อยู่ที่ประสบการณ์หรือทุนวิจัยมหาศาล แต่อยู่ที่ความเชื่อมั่นในตัวเองและการเอาลูกค้าเป็นเป้าหมายสูงสุดต่างหาก แน่นอนว่าการชนะเลิศครั้งนี้ทำให้มัตซึชิตะอิเล็กทริคสามารถขายเครื่องได้อย่างมากมายแม้ว่าราคาจะสูงในช่วงแรก และเมื่อการผลิตมากขึ้นต้นทุนการผลิตต่ำลงก็สามารถขายให้ประชาชนทั่วไปได้โดยคนทั่วไปเรียกมันว่า “ วิทยุเนชั่นแนล “ มียอดขายเดือนละกว่าหมื่นเครื่อง 



การเป็นผู้นำทางธุรกิจ



              การที่เขาสามารถเอาชนะความลำบากของตัวเองและต่อสู้กับคู่แข่งทางการค้าที่มากมาย ความล้ำหน้าในการออกแบบ การเพิ่มคุณค่าโดยต้นทุนต่ำลง และระบบการขายปลีกที่แข็งแกร่งโดยคำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก กลายเป็นจุดแข็งที่ยากต่อการโจมตีของมัตซึชิตะ อิเล็กทริค  

นอกจากนี้โคโนสุเกะ มัตซึชิตะ ยังประกาศก้องถึงการที่เขาจะทำให้เขาเป็นผู้ผลิตสินค้าที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตในราคาที่แสนถูกให้ได้เพื่อให้โอกาสแก่คนจนด้วย โดยเขาไม่ได้มองที่ผลประโยชน์ระยะสั้น แต่ทำเพื่อสังคมในระยะยาวโดยยึดถือหลัก  รับใช้ส่วนรวม เป็นธรรมและซื่อ-สัตย์  ทำงานเป็นหมู่คณะ ถ่อมตนและกตัญญูต่อประชาชนเป็นหลักโดยเป็นการประยุกต์เอาศาสนามาเป็นตัวกลางเพื่อให้ลูกน้องทุกคนทำงานเพื่อสังคมอย่างจริงจังและเพื่อเพิ่มความแน่นแฟ้นแก่บุคคลากรในองค์กรอีกทางหนึ่งด้วย โดยที่เขาเริ่มที่ตัวเองเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก-น้อง ไม่นานองค์กรของเขาก็เป็นปึกแผ่นในด้านความคิดและการปฏิบัติ จากการที่เขาพยายามทำตัวเพื่อสังคมรวมไปถึงการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกน้องนั้น แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้า รวมไปถึงการรู้จักตัวเองที่เป็นตัวเอง ไม่หลงทะนงตนว่าเป็นใหญ่แล้ว แต่ตรงข้ามเขาเป็นคนที่เข้าใจลึกซึ้งถึงจิตใจของลูกน้องด้วยซ้ำไป (เช่นในกรณีที่มีวิกฤตการณ์ เขาไม่ปลดพนักงานเลยแม้แต่คนเดียวเพราะสงสารลูกน้องและครอบครัวของเขา) 

เมื่อกิจการใหญ่โตขึ้น การจัดองค์กรให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมี  ในปี 1933 เขาได้จัดระบบการบริหารใหม่ตามชนิดของผลิตภัณฑ์ โดยแต่ละส่วนจะคุมทั้งโรงงานและการขายโดยจะไม่มีการก้าวก่ายกันระหว่างฝ่าย แต่จะทุ่มเทในงานของฝ่ายตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อตอบสนองความ-ต้องการของลูกค้า การที่เขาแตกแยกบริษัทออกเป็นส่วนแล้วมอบอำนาจในการบริหารนั้น เป็นผลดีต่อการขยายตัวของบริษัทโดยอาศัยหลัก “ แตกให้เล็กเพื่อจะได้โต ” การบริหารงานเช่นนี้จะให้อำนาจทั้งหมดในการผลิตและขายสินค้านั้นแต่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทใหญ่ ทำให้ผู้บริหารสายผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาปรับปรุงสายของตัวเองให้ดียิ่งขึ้นตลอดเวลาและยังเป็นการให้โอกาสผู้บริหารรุ่นใหม่ได้ใช้ฝีมืออีกด้วย   และด้วยเหตุนี้เองทำให้บริษัทได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วอีกครั้งรวมถึงการเปิดตลาดในต่างประเทศด้วย 

            ในปลายปี 1935 เขาได้ขยายกิจการจนมีโรงงาน 9 แห่งสินค้ากว่า 300 ชนิด และการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งทำให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาอีกมากมาย ทั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียง ไมโครโฟน ลำโพง โดยมีคนงานในบริษัทถึง 9,336 คน
            ในปี 1939
 แน่นอนว่าการแบ่งงานของเขาต้องควบคู่ไปกับการฝึกอบรม ดังนั้นเขาจึงวางแผนสร้างบุคคลากรขึ้นมาอีกโดยให้ทุนการศึกษาแก่เด็กผลการเรียนดีเพื่อส่งเสียให้เรียนในสาขา วิศวกรรมไฟฟ้า และด้านการพาณิชย์ เพื่อสอนให้เข้าใจถึงเทคนิคการขายและการทำธุรกิจ โดยจะเป็นลักษณะทำงานไปพร้อมเรียน และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการฝึกอบรมคือ การให้เขาเข้าใจว่าทุกคนไม่ได้ทำงานให้บริษัท แต่ทำให้สังคมต่างหาก 

            ขณะที่การขยายตัวของบริษัทกำลังดีวันดีคืนอยู่นั้น  ญี่ปุ่นก็เริ่มเกิดลัทธิชาตินิยมจนลามไปถึงอาการที่จะแสดงแสนยานุภาพขึ้นทุกที และในที่สุดสงครามก็เกิดจนได้ โดยในปี 1937 ญี่ปุ่นก็เข้ายึดปักกิ่ง (จีน)ไว้ได้ และขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ จนเป็นสงครามมหาเอเชียบูรพา  และประกาศสงครามกับอเมริกาในปี 1941 ด้วยการโจมตีอ่าวเพิร์ล  ฮาเบอร์  และขณะที่ญี่ปุ่นกำลังทำสงครามอยู่นั้นได้ถูกทางการข้อร้องเชิงบังคับให้มัตซึชิตะผลิตอาวุธให้กองทัพ จากเหตุผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทำให้เขาต้องเพิ่มกำลังผลิตและมีการตั้งสาขาที่กรุงโซล ( ที่ญี่ปุ่นยึดครองได้ ) รวมไปถึงการก่อ-สร้างเรือบินและมีคนงานกว่า 26,000 คนรวมไปถึงห้องทดลองที่ทันสมัยเพียงพอที่จะทำให้มัตซึชิตะ กรุ๊ปสามารถเป็นยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียได้ทันทีหากญี่ปุ่นชนะสงราม การทำสงครามนี้แม้ว่าญี่ปุ่นจะได้เปรียบในช่วงแรกๆ แต่ในที่สุด จากระเบิดปรมาณู 2 ลูกที่ลงที่ฮิโรชิมาและนางา-ซากิทำให้ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้พังทลายลงอีกครั้ง เมื่อญี่ปุ่นถูกยึดโดยฝ่ายสัมพันธมิตร เขาได้รับสารจากทางการ ( ฝ่ายสัมพันธมิตร ) ให้หยุดการผลิตทั้งหมด ทำให้บริษัทที่เขาสร้างมาทั้งหมดต้องถูกปิดลงในพริบตา รวมไปถึงโรงงานนอกญี่ปุ่นอีก 30 แห่งก็พลอยถูกยึดไปด้วย คนงานที่มีมากกว่า 26,000 คนเหลือเพียง 7,926 คนเท่านั้น และต่อมาอีกไม่กี่เดือนโรงงานของเขา 5 แห่งก็ถูกยึดไปเป็นค่าชดเชยปฏิกรรมสงคราม ยิ่งไปกว่านั้นเขายังถูกบีบไม่ให้ทำงานในบริษัทที่เขาสร้างมากับมืออีกต่อไปด้วย   

            ในปีนั้นเองมัตซึชิตะ ได้เข้าออกโตเกียวกว่า 50 เที่ยวเพื่อวิ่งเต้นให้หลุดจากการถูกระงับการผลิต ในช่วงปี 1946 – 1947 จากการช่วยของหลายทางทั้งสหภาพแรงงาน และด้านอื่น ๆ ทำให้เขาสามารถเปิดการผลิตขึ้นได้อีกครั้งแต่อยู่ใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของกฎหมายพิเศษ  และก็มาเจอกับสภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงและการประกาศแผนควบคุมค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ทำให้เขาจำเป็นต้องทำการกู้เงินและปลดพนักงานออกเป็นครั้งแรกตั้งแต่ตั้งบริษัทมาเนื่องจากหมดทางเลือกและมีหนี้สินกว่าพันล้านเยนเลยทีเดียว  หลังจากเกิดวิกฤตการณ์นั้น อีก 4 ปีเขาก็ได้ปลด-ปล่อยให้ทำงานอย่างอิสระได้อีกครั้ง การเริ่มต้นใหม่อีกครั้งของเขามีจุดอ่อนมากมายเนื่องจากต้องเริ่มจากมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินแต่ยังยึดระบบการแบ่งส่วนงาน การฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ได้ฟื้นฟูสภาพจิตในของคนงานให้มีแรงบันดาลใจที่จะทำเพื่อประโยชน์ให้สังคมและเพื่อฟื้นฟูญี่ปุ่นตามหลักการเดิมของเขา และเพื่อตามโลกให้ทันเขาได้เดินทางออกไปต่างประเทศเพื่อเปิดโลกเทคโนโลยีให้กับเขาและญี่ปุ่น  เขาได้เดินทางไปอเมริกาและยุโรปเพื่อหาแหล่งเทคโนโลยีแห่งใหม่

           ในปี 1952 เขาได้เจรจาร่วมทุนกับฟิลิปส์ แม้ว่าในช่วงแรกทางฟิลิปส์แสดงท่าทีไม่สนใจเนื่องจากข้อผูกพันด้านสัญญา แต่ในที่สุดก็ตกลงกันได้ด้วยการตื้อและอ้อนวอนให้เห็นถึงโอกาสข้างหน้า การลงทุนร่วมครั้งนี้อาจจะไม่มากสำหรับยักษ์ใหญ่อย่างฟิลิปส์  แต่เป็นงานช้างสำหรับมัตซึชิตะเลยทีเดียว  โดยโรงงานและแล็บทดลองได้ถูกสร้างขึ้นในปี 1954 โดยจ่ายเงินเป็น % ค่าเทคนิคให้ทางฟิลิปส์และได้ผลิตสินค้าใหม่ ๆ ได้เพิ่มอีกมากมายเช่นทีวี ตู้เย็น หม้อหุงข้าว เครื่องซักผ้า เป็นต้น  ทำให้มัตซึชิตะเติบโตขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้สินค้าของเขายังได้รับการยอมรับในต่างประเทศด้วย โดยดูได้จากมูลค่าการส่งออกในปี 1954ที่ระดับ 500 ล้านเยน เป็น 32,000 ล้านเยนในปี 1958 การรักษาการเติบโตของตลาดต่างประเทศจำเป็นต้องมีการลงทุนไกลจากญี่ปุ่น ในช่วงทศวรรษที่60 สินค้าของเขาได้ตีตลาดตามเมืองใหญ่ ๆ ได้ทั่วโลก แต่อย่างไรก็ดีเขาก็จะเตือนพนักงานของเขาอย่างเสมอ ๆ ว่า “ อย่าเย่อหยิ่งลำพองใจ  แต่ต้องทำให้ดีขึ้นไปอีกเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ” การเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้บริษัทมีประสิทธิภาพเสมอ  และเขายังคงความกล้าที่จะเสี่ยงในการเพิ่มเงินเดือนพนักงานอย่างพรวดพราดในปี 1967 เพื่อกดดันให้พนักงานพยายามดิ้นรนให้ตัวเองมีประสิทธิภาพเพียงพอเพื่อรักษาระดับ Cost เพื่อความสามารถในการแข่งขัน และในที่สุดเขาก็ชนะ บริษัทของเขากลายเป็นบริษัทที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในญี่ปุ่นเหนือกว่าโซนี่หรือโตโยต้าเสียอีก 



บั้นปลายของชีวิต 



            ปี 1961 โคโนสุเกะได้ขยับออกห่างจากการบริหารงานประจำวันของบริษัท โดยแต่งตั้งมาซาฮารุบุตรเขยเขามาเป็นผู้จัดการใหญ่แทน  โดยใช้ชีวิตที่เหลือในการเขียนหนังสือ ให้ทุนการ-ศึกษา และทำงานในสถาบัน PHP  ซึ่งเป็นสถาบันที่เขาได้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคมและให้ข่าวสารแก่ประชาชนเพื่อสันติภาพ โดยมีสมาคมที่เข้าร่วมเกี่ยวข้องกว่า 3,000 สมาคมเลยทีเดียว โดยมีปรัชญาที่ว่าเพื่อสร้างคนให้เป็นคนดี รับผิดชอบต่อสังคม และการเติบโตที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลรวมไปถึงการเปิดใจเพื่อแก้ไขปัญหา  สำหรับในการเขียนหนังสือนั้น เขาได้เขียนหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์กว่า 46 เล่มโดยผ่านทาง PHP และบริจาคแก่สังคมเป็นจำนวนมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์ และการที่คิดว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศชาติ เขาก็ได้จัดตั้งสถาบัน MIGM เพื่อส่งเสริมการศึกษาและสั่งสอนความดีให้นักการเมืองรุ่นใหม่ โดยจะรับผู้สำเร็จจากปริญญาตรีมาทำการฝึก โดยเน้นหนักที่การเติบโตและพัฒนาตัวผู้เรียนให้มีความเป็นผู้นำที่ดีในอนาคต และในวันที่ 27 เมษายน 1989 โคโนสุเกะก็ได้เสียชีวิตลง

            เด็กหนุ่มที่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า กล้าเสี่ยงที่จะพัฒนาสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ รวมไปถึงความมานะอดทนไม่ย่อท้อต่อความลำบาก โดยยึดถือหลักดีกว่าแต่ถูกกว่า การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป  นอกจากนี้หลังจากเกษียณตัวเองแล้วยังทำงานเพื่อสังคมมาตลอด เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าเขาทำเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง ทำให้เขาได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ชื่อของเขาคือโคโนสุเกะ มัตซึชิตะผู้จุดประกาย

ความหวังของคนทั้งโลกนั่นเอง